จา พนม : พระเอกยอดนักบู๊ ผู้ไม่ยอมแพ้

<< แชร์บทความนี้

ใครจะคิดว่าเด็กน้อยในถิ่นห่างไกล ใกล้ชายแดนกัมพูชา จะกลายเป็นดาราฮอลลิวูด ที่ผู้คนต่างยอมรับในความสามารถ

ความคลั่งไคล้ยอดดารานักบู๊บนจอ ทำให้เขาเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ ไต่เต้าจากบทบาทเล็กๆ มาเป็นสตั๊นท์แมนมืออาชีพ ก่อนจะโด่งดังในฐานะพระเอกภาพยนตร์เรื่ององค์บาก และต้มยำกุ้ง ส่งให้วลี ‘ช้างกูอยู่ไหน’ ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง

แต่ชายหนุ่มไม่เคยหยุดความฝันไว้แค่นั้น เขาถีบตัวเองไปทำงานกับทีมผู้สร้างชั้นนำที่สหรัฐอเมริกา ประกบซูเปอร์สตาร์หนังแอ็กชันมาแล้วมากมาย เช่น ในหนังแฟนตาซีฟอร์มยักษ์ระดับโลก Monster Hunter เขารับบทนำคู่กับนางเอกชื่อดัง Milla Jovovich นับเป็นนักแสดงไทยคนแรกๆ ที่ได้โอกาสยิ่งใหญ่เช่นนี้

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคนไปรู้จักตัวตนของ จา พนม หรือที่คนทั่วโลกเรียกว่า Tony Jaa ถึงการต่อสู้ชีวิตที่โลดโผนไม่แพ้หนังที่เขาเล่นเลย

ความฝันของเด็กเลี้ยงช้าง

‘ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน’ – กว่า 18 ปีแล้วที่คนไทยได้ยินประโยคนี้

ด้วยพื้นฐานการเป็นสตั๊นท์แมนมืออาชีพมาก่อน ผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งจากจังหวัดสุรินทร์ได้เปลี่ยนหนังที่เล่าเรื่องการหาเศียรพระที่ถูกโจรกรรม ให้กลายเป็นความสนุกลุ้นระทึก ถึงขั้นนั่งไม่ติดเก้าอี้ ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที

ไม่แปลกเลยว่าทำไม ‘องค์บาก’ จึงขึ้นแท่นหนังทำรายได้เกินร้อยล้านบาท ถูกนำไปฉายทั้งอเมริกา ยุโรป เปลี่ยนให้ ‘จา พนม’ กลายเป็นพระเอกนักบู๊ เบอร์ 1 ของเมืองไทย

แต่ทั้งหมดจะไม่มีทางเกิดขึ้น หากวันนั้นไม่มีรถขายยาวิ่งมาในกิ่งอำเภอเล็กๆ อย่างพนมดงรัก

บ้านเกิดของจาอยู่ติดชายแดนเขมร ไกลจากตัวเมืองมาก

ความสุขอย่างหนึ่งของเขา เกิดขึ้นเวลาเห็นรถขายยาแล่นเข้ามาแถวหมู่บ้าน เพราะรถคันนี้ไม่มีแค่เวชภัณฑ์มาจำหน่าย แต่ยังพกหนังไทย หนังเทศดังๆ มาฉายแบบกลางแปลงด้วย

จาหลงใหลหนังแอ็กชั่นของเฉินหลง, บรูซ ลี และเจ็ต ลี มากเป็นพิเศษ

เขาชอบลีลาและทักษะการเตะต่อยที่สนุก เร้าใจ ดูเสร็จก็พยายามจำท่าทางมาเลียนแบบ

“บางทีผมฝึกจนมืดค่ำ ยิ่งช่วงเดือนหงาย มันได้อารมณ์มาก เหมือนเป็นความฝัน แล้วที่บ้านก็จะมีสัตว์เลี้ยงคือช้าง เพื่อนๆ ขี่ควาย แต่เราขี่ช้าง ตีลังกาลงจากหลังช้าง ก็เล่นไปเรื่อย เป็นแผลถลอกบ้าง มีครั้งหนึ่งหนักสุดทำตีลังกาหลัง แล้วข้อเท้าแพลง ปวดและบวมมาก กลับไปบ้านก็ไม่กล้าบอกพ่อ”

สำหรับจาแล้ว นี่คือความศรัทธา ความรัก ต่อศิลปะการต่อสู้ที่ซึมซับมาจากภาพยนตร์ กระทั่งวันหนึ่ง เขารู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องประกาศให้คนอื่นรับรู้ถึงความสามารถของตัวเอง

พอดีช่วงนั้นครูลูกเสือมอบหมายให้เด็กๆ คิดกิจกรรม ขณะที่คนอื่นแสดงละคร แต่จาอยากแสดงคิวบู๊ที่ฝึกมา พอครูกับเพื่อนๆ เห็นก็ตกใจว่าทำได้ยังไง ตั้งแต่นั้นมา เขาก็กลายเป็นฮีโร่ประจำโรงเรียน

กระทั่ง ม.3 เขาได้ชมหนังไทยเรื่อง ‘เกิดมาลุย’ ที่มี พันนา ฤทธิไกร แสดงนำ ในเรื่องมีคิวบู๊คิวแอ็กชันที่มันมาก ทำให้เด็กน้อยเริ่มรู้ว่า คนไทยเก่งๆ ก็มีเยอะเหมือนกัน

จาตั้งมั่นว่าจะต้องเจอพันนาให้ได้ เพื่อขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์

“เฉินหลงอยู่ตั้งฮ่องกง แต่นี่คนไทยอยู่ในเมืองไทย พอจบ ม.3 ผมขอพ่อเลย บอกอยากไปอยู่กับเขา อยากไปเล่นหนัง พ่อบอกจะดีเหรอ เราไม่รู้จักเขา ที่อยู่เขาก็ไม่มี ผมเลยบอกพ่อว่า ถ้าไม่พาไป ผมจะฆ่าตัวตาย พ่อเลยยอม แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องกลับมาเรียน ม.4-6”

ครั้งนั้น จาเก็บกระเป๋าเดินทางจากสุรินทร์ไปยังขอนแก่น โดยอาศัยข้อมูลจากเครดิตหนัง สองพ่อลูกไปไล่ถามคนแถวนั้นอยู่นาน จนทราบว่า พันนามาพักอยู่ที่โรงแรมแก่นอินทร์ในตัวเมืองเพื่อถ่ายภาพยนตร์ จึงฝากข้อความที่เคาน์เตอร์โรงแรม รอจนเช้าถึงได้พบพันนาตัวจริง

“พอพี่เขาลงมาจากบันได โอ้โห้! เท่มาก มีบอดี้การ์ดซ้ายขวา แล้วพ่อก็ไปหา บอกว่าลูกชายอยากมาอยู่ด้วย แล้วก็บอกว่า ถ้าไม่พามา มันจะฆ่าตัวตาย พี่พันนาก็บอกขนาดนั้นเลยเหรอ ตอนนั้นเขาให้ทดสอบฝีมือ ผมก็โชว์ใหญ่เลย ตีลังกาหน้า ตีลังกาหลัง บิดเกลียว เขาก็บอกเก่งๆ แล้วให้ที่อยู่เบอร์โทรไว้ แต่เขาอยากให้เรากลับไปเรียนก่อน พอช่วงปิดเทอมค่อยเข้ามาหาประสบการณ์ในกองถ่าย”

ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตของจาก็เริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ฝันมากขึ้น..

ทุกช่วงปิดเทอม เขาจะมาขลุกอยู่กับกองถ่ายของพันนา ทำงานสารพัด ตั้งแต่ล้างจาน ซื้อน้ำแข็ง เสิร์ฟอาหาร ขณะเดียวกันก็พยายามหาจังหวะที่สตั๊นท์แมนฝึกขอเป็นคู่ซ้อม จนเริ่มเชี่ยวชาญ และกลายเป็นตัวประกอบในหนังฟอร์มเล็กอย่าง สิงห์สยาม, กวนโอ้ย, ปลุกมันขึ้นมาฆ่า 4 ฯลฯ

แต่แน่นอน หนทางที่จะไปถึงฝั่งฝันได้นั้นยังอยู่อีกไกล

สร้าง 'ไทยสไตล์'

หลังรับบทเป็นสตั๊นท์แมนให้หนังและละครมาเป็นสิบเรื่อง

วันหนึ่งโอกาสใหญ่ก็มาถึง จาได้รับเลือกให้เป็นสตั๊นท์แมนของหนังฮอลลิวูดอย่าง Mortal Kombat 2 : Annihilation โดยรับหน้าที่แสดงฉากเสี่ยงๆ แทน Robin Shou พระเอกของเรื่อง

แต่ถึงจะรู้สึกประทับใจมากเพียงใด จากลับเริ่มตระหนักว่าเส้นทางนี้ ไม่มีทางจะทำให้เขาเป็นเหมือนไอดอลในฝัน แบบเฉินหลง หรือเจ็ท ลี ได้แน่นอน

“วันหนึ่งผมพาเพื่อนไปดูหนังเรื่องนี้ ชี้ให้เพื่อนดูแต่ไม่มีใครเชื่อ ทำให้คิดว่าเราพยายามแสดงอย่างเต็มที่ แต่คนอื่นไม่รู้ว่าเป็นเราเล่น”

เขาเริ่มกลับมาทบทวนตัวเอง ก่อนตัดสินใจคุยกับพันนาว่า อยากทำหนังที่เขาเล่นเป็นตัวนำ

พันนาเคยปั้นสตั๊นท์แมนเป็นพระเอกหนังที่ฉายตามต่างจังหวัดมาก่อน เลยเห็นว่าจาก็พอมีแววอยู่บ้าง จึงคิดโปรเจ็กต์ ‘คนสารพัดพิษ’ ขึ้นมา เล่าเรื่องราวของนักสู้ที่เก่งศิลปะการต่อสู้ทุกอย่าง

พันนาบอกจาว่า ถ้าอยากจะเอาจริง เขาต้องทุ่มเท ต้องซ้อมหนัก

ครั้งนั้นจาหยิบหนังของเฉินหลง, บรูซ ลี และเจ็ต ลี มาดูซ้ำทุกเรื่องแล้วฝึกตาม โดยวางโจทย์ให้ตัวเองว่า ต้องทำให้ดีกว่าให้ได้ เช่นถ้าเขาทำท่านี้ได้ 1 รอบ จาต้องทำให้ได้ 2 รอบ แต่ละวันซ้อมไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ทั้งกังฟู เทควันโด ยิมนาสติก กระบี่กระบอง แม้แต่มวยจีน

เวลาพันนาไปไหน เขาก็ตามไปด้วย ครั้งหนึ่งพันนาต้องขึ้นกรุงเทพฯ มากำกับคิวบู๊ให้ละครเรื่องอินทรีแดง จาก็มารับบทแสดงฉากแอ็กชันแทน เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์

พอถึงช่วงเบรก ทั้งคู่ก็ซ้อมกันต่อ จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน แม้เป็นช่วงที่หนักหน่วง แต่จาก็มีความสุขมาก และไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตวัยรุ่นขาดหายไปเลย

กระทั่งวันหนึ่งก็มาจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต..

เมื่อ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับมิวสิกวีดิโอชื่อดัง มีไอเดียอยากจะทำหนังแอ็กชันแบบไทยๆ จึงมาปรึกษาพันนา เขาคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะผลักดันศิษย์รัก

ครั้งนั้นพันนามองว่า หากจะเน้นการต่อสู้แบบไทยๆ ก็ต้องเป็นมวยไทยเท่านั้น ทั้งคู่จึงช่วยกันค้นตำรา หาสารคดีมวยไทยสมัยโบราณมาศึกษา พร้อมเดินสายพูดคุยกับค่ายมวยยุคบุกเบิก จนได้ท่ามวยไทยแปลกๆ กว่า 200 ท่า เช่น สลับฟันปลา ปักษาแหวกรัง, ชวาซัดหอก, อิเหนาแทงกริช ฯลฯ

“เราค้นหาเอกลักษณ์ของเราเจอแล้ว เป็นมวยไทยโบราณ ซึ่งต่างกับมวยไทยบนเวทีที่มีกฎกติกา มีข้อห้ามทำให้ไม่สามารถใช้แม่ไม้มวยไทยที่เป็นอันตรายได้ และยังมีเครื่องเซฟร่างกาย เช่นนวม ขณะที่มวยไทยโบราณ มันเหมือนไอกิโด คาราเต้ ยูโด มีทุ่มทับจับหักเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้นำมาเสนอ ท่ามวยเก่าๆ เลยถูกลืมเลือนและสูญหายไป”

จากับพันนาใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่นาน 1 ปีเต็ม จากนั้นทั้งคู่ก็รวบรวมเงินแสนกว่าบาทที่ได้จากการถ่ายหนังถ่ายละคร มาซื้อฟิล์มเพื่อถ่ายการฝึกซ้อม ตั้งใจจะส่งไปให้ปรัชญาดู

น่าเสียดายที่พอล้างฟิล์มออกมาแล้ว ปรากฏว่าเสียหมด

แม้จะท้อแต่พวกเขาไม่ยอมถอย ช่วยกันหาเงินก้อนใหม่ เพื่อซื้อฟิล์มใหม่ จาถึงขั้นยอมเอาเครื่องเสียงที่รักมากไปจำนำ รวมทั้งขอยืมเงินน้องสาวมาก่อน 50,000 บาท

เมื่อปรัชญาชมเสร็จ เขาสนใจการแสดงของจาเป็นพิเศษ เลยนัดคุยกันจริงจัง จากนั้นก็ใช้เวลาเตรียมงาน เขียนบท ดีไซน์ฉากต่างๆ รวมกันทั้งหมด 4 ปี

“นานมากแต่ผมก็รอ เพราะอยากนำเสนอความสามารถของเราที่ไม่ใช่สตั๊นท์แมน เป็นความสามารถของผมชัดเจน โดยไม่ใช้เทคนิคไม่ใช้อะไร แต่เกิดจากการฝึกซ้อม ซึ่งผมเองไม่ได้นึกถึงชื่อเสียงหรือความเป็นดาราเลย แต่อยากให้คนดูเห็นความสามารถของเรา แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว แต่ที่ภูมิใจที่สุด คือได้เผยแพร่มวยไทย เอกลักษณ์ของความเป็นไทย”

องค์บากเข้าฉายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ทำรายได้ทะลุร้อยล้านบาท

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ชีวิตของจาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขากลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วประเทศ ได้เดินสายโชว์ทั้งในยุโรปและอเมริกา พร้อมแสดงทักษะคิวแอ็กชันที่โดดเด่นเหนือใคร ถึงขั้นผู้ชมชาวต่างชาติต้องลุกขึ้นยืนปรบมือให้

“ผมมีปรัชญาในการใช้ชีวิต คือ ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง แล้วทำวันนี้ให้ดีที่สุด.. อย่างหนัง เราไม่ได้ทำลอยๆ เพื่อความสะใจอย่างเดียว แต่เราทำอย่างมีเป้าหมาย มีแก่นแท้ สุดท้ายเราจะมีความสุขกับสิ่งที่ออกมา

“ที่สำคัญผมเชื่อว่าศาสตร์และศิลปะสามารถสื่อสารกันได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องพูดเรื่องของภาษา อย่างผมไปต่างประเทศ ผมเอาลักษณะของท่าทาง เอาความรู้สึกที่เรามีถ่ายทอดออกมา คนดูก็ปรบมือ น้ำตาไหล บอกผมว่า ‘โทนี่ จา ไอเลิฟยู’ นั่นคือสิ่งที่เราไปสัมผัสว่าศาสตร์ของหนังนั้นไม่ได้แบ่งแยกกัน”

ผลจากความมุ่งมั่นพยายามโดยไม่ลดละ ได้ผลักดันให้ชายหนุ่มจากสุรินทร์ผู้นี้กลายเป็นไอดอลของใครหลายคน ตามรอยดารานักสู้ อย่าง เฉิน หลง หรือเจ็ท ลี ที่เขาเคยประทับใจมาก่อน

ฝันให้ไกล ไปถึงระดับโลก

ตลอดชีวิต จา พนมไม่เคยหยุดที่จะวิ่งตามความฝัน

หลังประสบความสำเร็จอย่างสูง จากองค์บาก และต้มยำกุ้ง ในปี 2556 จาได้รับการติดต่อจากทีมงาน Fast & Furious 7 ชวนมาร่วมงานด้วย ถือเป็นครั้งแรกของการโกอินเตอร์แบบจริงจัง

แม้จะได้รับเพียงบทเล็กๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกหวั่นไหว เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่นักแสดงคนหนึ่งจะได้รับโอกาสให้ร่วมแสดงในหนังระดับ A+ เช่นนี้

“ผมรับเล่นโดยที่ยังไม่ได้อ่านบทด้วยซ้ำ แม้ออกมาไม่มาก แต่ Vin Diesel บอกว่า ‘Make Character’ คือสร้างบทบาทให้ตัวละครนี้ไปก่อน ตอนนี้ได้แค่นี้ก็แค่นี้ ถ้าวันหนึ่งเขาเปิดตัวละครตัวนี้ให้มีบทบาทมากขึ้น จากตัวละครเล็กๆ ก็สามารถเป็นตัวละครที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้”

ครั้งนั้นจาใช้เวลาปรับตัวอยู่นาน 2 ปีเต็ม ตั้งแต่คิดท่ามวยใหม่ๆ และเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม

ผลจากการเข้าร่วมหนังฟอร์มยักษ์ กลายเป็นสะพานให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางที่ฝันไว้เต็มตัว เพราะท่ามกลางบทที่น้อย แต่เขากลับแสดงได้น่าจดจำ โดยเฉพาะฉากต่อสู้กับ Paul Walker ซึ่งเขาทุ่มเทเต็มที่ ด้วยความคิดที่ว่าอยากให้ผู้ชมได้ดูฉากแอ็กชันดีๆ

หลังหนังเข้าฉาย จามีโอกาสเดินพรมแดง มีสื่อหลายรายมาขอสัมภาษณ์ เขาใช้เวทีเหล่านี้เป็นกระบอกเสียง เพื่อประกาศให้ทุกคนได้รับทราบความสามารถของคนไทย

“ถ้าผมทำสำเร็จ ได้อยู่ในฮอลลิวูดจริงๆ ผมเชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อประเทศไทย เพราะอย่างน้อย ผมก็มีโอกาสสร้างชื่อเสียงและเปิดโอกาสให้วงการภาพยนตร์ไทย รวมถึงให้เยาวชนไทยได้เห็นว่า คนธรรมดายังไปถึงฮอลลิวูดได้ ทุกคนก็ไปได้ ไม่ว่าใครก็มีสิทธิฝันว่าสักวันหนึ่งฉันจะเป็นเหมือนบรูซ ลี, เฉิน หลง หรือทอม ครูซ ทำไมจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนไทยก็ทำได้เหมือนกัน”

หากถามว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของจา สิ่งนั้นคงเป็น การรู้ตัวเองว่าต้องการไปทางไหน แล้วพัฒนาให้ถึงจุดนั้นให้ได้ รวมถึงการมองโลกในแง่บวก แม้บางครั้งต้องเผชิญกับเรื่องร้ายก็ตาม

“ถ้าไปทางบวกเราจะเพิ่มพลังตัวเองได้ สำหรับผมทุกอย่างเราสร้างขึ้นมาเองได้ กล้ามไม่ได้ บอดี้ไม่ได้ ก็สร้างขึ้นมาสิ ศิลปะการต่อสู้ตรงนี้ไม่ได้ เราก็ต้องฝึก ทุกอย่างสะสมมาเรื่อยๆ

“อย่างเวลาผมไปทำงานกองถ่ายต่างประเทศ ผมมีเก้าอี้นั่งติดกับ Vin Diesel เลยนะ แต่ผมก็ยังคอยเดินเสิร์ฟน้ำอยู่ เพราะอยากเดินไปทั่วๆ เพื่อดูว่าเขาทำงานกันยังไง อยากศึกษาวิธีการทำงานของโปรดิวเซอร์ อยากรู้ความคิด อยากรู้มุมมองของกองถ่าย และทีมสตันต์ของเขาว่าเป็นยังไง”

แต่แน่นอนโอกาสไม่ได้เดินเข้าหาเขาอยู่ตลอด จาต้องพยายามต่อสู้ นำเสนอความสามารถให้บรรดาโปรดิวเซอร์และค่ายหนังต่างๆ ได้เห็น

การไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองนี่เอง ทำให้ฝีมือของเขาเข้าตาใครหลายคน จนได้ร่วมแสดงในหนังระดับอินเตอร์อีกหลายเรื่อง ทั้ง Master Z: Ip Man Legacy หรือ xXx: Return of Xander Cage

และนี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่แลกมาด้วยความพยายามของผู้ชายที่ชื่อ Tony Jaa

อยากนำเสนอความสามารถของเราที่ไม่ใช่สตั๊นท์แมน เป็นความสามารถของผมชัดเจน โดยไม่ใช้เทคนิคไม่ใช้อะไร

จา พนม : พระเอกยอดนักบู๊ ผู้ไม่ยอมแพ้

ก้าวใหญ่ของชีวิต

ในปี 2563 คือก้าวกระโดดที่สำคัญอีกครั้งในชีวิต

เมื่อเขาได้รับบทนำในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Monster Hunter ที่ดัดแปลงมาจากเกมชื่อดัง กำกับโดยเจ้าพ่อหนังแอ็กชัน Paul W. S. Anderson

หนังเล่าเรื่องราวโลกของสัตว์ประหลาดที่อันตราย จารับบทเป็นนักล่าซึ่งมีดาบยักษ์และธนูเป็นอาวุธประจำตัว คอยไล่ล่าสัตว์ดุร้าย โดยครั้งนี้เขาได้จับคู่กับซูเปอร์สตาร์อย่าง Milla Jovovich

ตอนได้รับบทมา เขาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง กระทั่งไปถึงสตูดิโอ โปรดิวเซอร์และผู้กำกับกล่าวต้อนรับเขาว่า ‘Welcome to Monster World, you’re hunter.’ และชวนมาร่วมกันใช้เวทมนต์ของภาพยนตร์สร้างฝันให้เป็นจริง จาถึงมั่นใจว่าตนเองไม่ได้ฝันไป

แต่บทบาทที่ยิ่งใหญ่ มักมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งเสมอ

จาต้องทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาบุคลิกของตัวละคร ฝึกใช้อาวุธ จนถึงแสดงร่วมกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ซึ่งเขาทุ่มสุดตัว เล่นจริง เจ็บจริง เหมือนทุกครั้ง

“เราไปถ่ายทำที่ทะเลทรายในเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ บรรยากาศคืออีกโลกหนึ่ง ร้อนก็ร้อนมาก หนาวก็อุณหภูมิติดลบ ผมต้องฝึกซ้อมสภาพร่างกายและจิตใจทุกสิ่งทุกอย่าง ทำการบ้านในเรื่องของบท ไปศึกษาเกมว่าฮันเตอร์มีบุคลิกยังไง สัตว์ประหลาดมีตัวอะไรบ้าง จะเอาชีวิตให้รอดจากโลกของมอนสเตอร์ได้อย่างไร ตีความตัวละครตัวนี้ออกมา

“ผมต้องฝึกฝนเรื่องของการใช้อาวุธ เพราะว่าไม่เคยใช้อาวุธใหญ่ขนาดนี้ แล้วมันต้องใช้ทั้งธนู ทั้งดาบยักษ์ ต้องใส่ชุดนักแสดงวิ่งในทะเลทราย ด้วยความร้อนประมาณ 45-50 องศา ต้องมองซ้ายมองขวาแล้วจินตนาการว่าไอ้ตัวราธารอส สัตว์ประหลาดที่ร้ายกาจ เป็นยังไง ใส่ฟีลลิ่งออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างมันยากมากๆ”

ฉากหนึ่งที่ท้าทายมาก คือ จาต้องกระโดดลงมาจากความสูงประมาณ 10 เมตร ให้ตรงกับมอนสเตอร์ในจินตนาการ ซึ่งมีเพียงสัญลักษณ์กากบาทแปะไว้ โดยต้องให้พอดีกับมุมกล้องและโฟกัสที่กำหนด เขาแสดงไปประมาณ 10 เทก ถึงจะผ่าน แม้ร่างกายระบมแต่ก็กัดฟันทำให้ดีที่สุด

ไม่เพียงรับบทบาทฮันเตอร์ จายังได้นำสิ่งที่เขาภาคภูมิใจอย่างศิลปะการต่อสู้ไทย ร่วมผสมผสานลงไปในภาพยนตร์ระดับโลกด้วย

“เราต้องแบ่งปันไอเดียให้ผู้กำกับได้เห็นว่าถนัดแบบไหน ผมก็เล่นให้ดูหมดเลย ทั้งมวยไทย ทั้งกระบี่กระบอง แล้วก็พลิกแพลงเล่นกับ Milla ซึ่งเขาก็ชอบความมีพลังอยู่แล้ว พอมาเล่นด้วยกันเลยรู้สึกว่าเคมีมันตรงกัน ผลัดกันรุกผลัดกันรับในชั้นเชิงของศิลปะการต่อสู้

“ผมเปรียบว่านั่นคือห้องเรียนของผมเลยนะ เราไม่ใช่แค่เป็นนักแสดงแต่เราไปเรียนรู้ด้วย ศึกษาว่าองค์ความรู้นั้นสามารถนำมาพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นหนังไทย หรืออุตสาหกรรมหนังไทยได้อย่างไร”

แม้วันนี้ จา-พนมจะก้าวสู่เวทีระดับโลกได้สำเร็จ หากแต่ชายนักสู้กลับไม่ลืมความพยายามของเด็กชายชาวสุรินทร์คนนั้นเลย เขายังคงต่อสู้ ทุ่มเทไม่ต่างจากเดิม เพื่อความฝันอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า คนไทยนั้นก็เก่งไม่แพ้ใครเลย

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • นิตยสารหญิงไทย ปีที่ 30 ฉบับที่ 716 ปักษ์แรก เดือนสิงหาคม 2548
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 25 ฉบับที่ 600 เดือนสิงหาคม 2547
  • นิตยสาร VOLUME ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 เดือนกรกฎาคม 2548
  • นิตยสาร a day bulletin ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 วันที่ 5-11 ธันวาคม 2551
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 36 ฉบับที่ 856 เดือนเมษายน 2558
  • นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ปีที่ 33 ฉบับที่ 773 เดือนเมษายน 2558
  • นิตยสาร a day bulletin ปีที่ 9 ฉบับที่ 481 วันที่ 10-17 เมษายน 2560
  • ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 26 ธันวาคม 2563 

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.