“..ก็เพราะว่าตัวฉันเป็นอย่างบูมเมอแรง ขว้างไปยิ่งแรง ยิ่งกลับมาเร็ว..”
หากคุณอายุ 35 ปีขึ้นไป คงไม่มีทางลืมเพลงในตำนานเพลงนี้แน่นอน
เพราะ ‘บูมเมอแรง’ คือบทเพลงที่ทำให้ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาล ‘เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์’ กลายเป็นศิลปินที่มียอดขายอัลบั้มเกินล้านตลับเป็นครั้งแรก
แม้จะผ่านมานานหลายสิบปี แต่บูมเมอแรงก็คงความเป็นอมตะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากบทเพลงอีกนับร้อย ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นปลายปากกาของนักเขียนเพลงผู้เดียวกันนี้
พลิกล็อค, นินจา, บ้าหอบฟาง, สายล่อฟ้า, เพราะเราเข้าใจ, เพื่อนไม่ทิ้งกัน, หมื่นฟาเรนไฮต์, เป็นอย่างงี้ตั้งแต่เกิดเลย, สัญชาตญาณบอก, สองคนในร่างเดียว, เก็บเอาไว้ให้เธอ, ตะเกียง, จริงใจไว้ก่อน, แปลกตรงที่หัวใจ, ก็มันเป็นอย่างนั้น (ฉลุย) ฯลฯ
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากพาทุกคนไปรู้จักกันเรื่องราวของนักเขียนเพลงอัจฉริยะผู้ล่วงลับ
เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์
ครั้งหนึ่ง เบิร์ด-ธงไชย เคยให้สัมภาษณ์ว่า บูมเมอแรง คืออัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิตของเขาตลอดกาล
เพราะก่อนที่อัลบั้มนี้จะวางแผงในปี 2533 เขาเคยออกอัลบั้มมาแล้ว 5 ชุด แต่กลับไม่มีอัลบั้มไหนที่ประสบความสำเร็จสุดขีดถึงขั้นขายได้เกินล้านตลับเลย
แน่นอนว่าหนึ่งในความสำเร็จนี้ก็มาจาก ‘บูมเมอแรง’ เพลงเปิดตัวที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเบิร์ดจาก ศิลปินสไตล์ Easy-Listening มาสู่การเป็นศิลปิน Pop เต็มรูปแบบ
แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่บูมเมอแรงจะโด่งดังเช่นนี้ เพลงนี้เกือบถูกตัดทิ้ง เพราะไม่มีใครเข้าใจไอเดียว่า บูมเมอแรงหมายความว่าอย่างไร?
จุดเริ่มต้นของบูมเมอแรง เกิดขึ้นจากการที่ทีมเขียนเพลงในแกรมมี่ได้รับโจทย์ว่าต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เบิร์ดกลับไปยืนอยู่ในจุดเดิมให้ได้ เพราะเวลานั้นใครๆ ต่างมองว่า ศิลปินผู้นี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง แม้แต่ผู้ปลุกปั้นอย่าง เต๋อ-เรวัติ พุทธินันทน์ ยังถึงขั้นเปรยว่า อาจถึงเวลาต้องหยุดแล้ว
“ตอนนั้นเบิร์ดกำลังดาวน์สวิง กำลังจะหมดเวลาของเบิร์ด ผมรู้สึกอย่างนั้น ยังจำได้ตอนเขียนเพลงนี้ นอนอยู่ในอพาร์ทเมนท์ และคิดอะไรบางอย่างไม่รู้ อะไรที่มันกลับมาใหม่นะ คือยังไงก็ต้องเอาเบิร์ดกลับมาให้ได้ คิดอยู่แค่นั้น พอได้ยินทำนองปุ๊บ ได้ยินคำว่าบูมเมอแรงก่อนเลย ได้ยินคำนี้ ก็เอ๊ะ น่าจะใช่นะ เลยเขียนออกมา”
สำหรับเขตต์อรัญ คำว่าบูมเมอแรงคือการเปรียบเทียบว่า ความจริงเบิร์ดไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ตรงนี้ และอยู่ไปอีกนาน เหมือนกับบูมเมอแรงที่แม้จะถูกขว้างไปไกล ก็ยังสามารถกลับมาที่เดิม
แต่หลังเขียนเสร็จ พอเข้าที่ประชุมกลับโดนท้วงติงอย่างหนัก โดยเฉพาะคำว่า ‘บูมเมอแรง’ ที่ถูกมองว่าฉีกเกินไป และไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคย หากปล่อยไป คนอาจไม่รับก็เป็นได้
“ตอนที่เขียนออกมา ผมรู้ว่ามันต้องฮิตถล่มทลาย แต่พูดให้ใครฟังก็ไม่มีใครเชื่อ คุณไพบูลย์ (ดำรงชัยธรรม) ก็ไม่เชื่อ ไม่รู้จะทำไง เลยไปพูดกับพี่เล็ก (บุษบา ดาวเรือง) บอกเขียนบูมเมอแรงให้เบิร์ด พี่เล็กก็ตาโต บอกพี่เขตต์เอาเลย พี่เล็กก็ไฟต์จนกระทั่งคุณไพบูลย์รำคาญ บอกทำไมต้องเพลงนี้ด้วย พี่เต๋อก็บอกทำไมต้องเพลงนี้ด้วย
“พอทันทีที่เขาตกลงว่าเอาเพลงนี้เข้าไปในชุดได้ ผมรู้ว่าผมทำงานสำเร็จ คือผมเห็นอยู่แล้ว แต่พูดไม่ได้ เราเป็นคนไม่มีเสียงในตรงนั้น และไม่มีสิทธิที่จะพูดด้วย เพราะผมเป็นแค่น็อตตัวเล็กอยู่ตรงนี้ในการทำงานเพลงเท่านั้นเอง”
ผลสุดท้ายก็เป็นไปตามคาด เมื่อบูมเมอแรงออกอากาศก็ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ทันที ยิ่งมาบวกกับเพลงคู่กัด ซึ่งถูกปล่อยตามมาอีกไม่กี่สัปดาห์ ก็ยิ่งเสริมพลังความแรงจนฉุดไม่อยู่ และส่งผลให้อัลบั้มชุดนี้มียอดขายทะลุ 2 ล้านตลับ มากกว่าอัลบั้มใดๆ ที่แกรมมี่เคยผลิตมาทั้งหมดเสียอีก
หากถามว่า เหตุใดเขตต์อรัญจึงมั่นใจว่าบูมเมอแรงจะประสบความสำเร็จ
บางทีนี่อาจเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของคนเขียนเพลงก็เป็นได้ เพราะทุกครั้งที่เขียนเพลง สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญสุดคือ เพลงนั้นต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับศิลปินอย่างแท้จริง
“เวลาเขียนต้องเห็นหน้าคนร้องด้วย แล้วก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ถ้ามีอะไรที่เกินกว่าที่เขาคิด เวลาเขาร้อง เราจะรู้เลยมันไม่มีทางเข้า.. อย่างบูมเมอแรง ตอนที่แต่ง ผมเห็นเบิร์ดวิ่งอยู่ในทุ่งหญ้าอย่างสนุกสนาน แล้วก็เห็นเงาอะไรบางอย่าง ดำๆ อยู่บนหัวเบิร์ด เวลาเบิร์ดไปไหนเงาก็จะตามไปด้วย ผมก็พยายามเพ่งอีกที แล้วผมก็เห็นว่าคือไอ้บูมเมอแรง ผมก็เลยเจาะเอาว่านี่คือตัวเบิร์ด”
“เพราะฉะนั้นการแต่งเพลง ต้องแต่งเพื่อไปเซิร์ฟตรงนั้น-จุดที่เขายืนอยู่ เพลงจะสำเร็จหรือไม่ ตอบอย่างนี้เลยว่า เพลงที่แต่งให้นักร้อง โปรดักชั่นที่ออกไป พอดีกับตัวเขาหรือเปล่า ถ้าพอดีกันเขาจะรับได้ แต่ถ้ายากเกินไปเขาจะรับไม่ได้”
และนี่ก็คือหนึ่งในเคล็ดวิชาที่เขตต์อรัญใช้รังสรรค์ผลงานมากมายจนศิลปินหลายคนโด่งดัง ไม่ว่าจะเป็น คริสติน่า อากีล่าร์, นูโว, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, ไมโคร, นรินทร ณ บางช้าง หรือ สุรสีห์ อิทธิกุล
หากถามว่าเขตต์อรัญแตกต่างจากนักแต่งเพลงคนอื่นตรงไหน
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม นายใหญ่แห่งแกรมมี่เคยบอกว่า “เพลงที่เขาแต่งล้วนแต่ฉีกๆ แหวกๆ ไม่เหมือนใคร ไม่มีรูปแบบแน่นอน แต่ก็ดังทะลุฟ้าหลายเพลง”
เขตต์อรัญเป็นคนที่เกิดมาเพื่อแต่งเพลงโดยแท้ ผลงานหลายชิ้นของเขาได้รับยกย่องว่าเป็นงานเพลงระดับขึ้นหิ้งที่เปี่ยมด้วยความสละสลวยทางด้านภาษา แฝงปรัชญา และการเปรียบเทียบที่ยากจะหาผลงานใดมาเทียบ โดยเฉพาะ ‘เรามองร้องเพลงกัน’ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เรวัติ พุทธินันทน์ และวงคีตกวี (อีกภาคหนึ่งของวงบัตเตอร์ฟลาย) โดยเขารับหน้าที่เขียนเนื้อเพลงเกือบยกชุด
แต่อีกมุมหนึ่ง เขาก็ยังสามารถสร้างเพลงป๊อปร่วมสมัย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นหนึ่งในทีมเขียนเพลงของแกรมมี่ ไม่ว่าจะเป็น ‘พลิกล็อค’ เพลงแจ้งเกิดศิลปินสาว ‘คริสติน่า’ ในฐานะ Dancing Queen เมืองไทย, ‘เป็นอย่างงี้ตั้งแต่เกิดเลย’ เพลงเปิดตัวบอยแบนด์น้องใหม่ขวัญใจสาวๆ ‘นูโว’ ที่เพียงอัลบั้มแรกก็ทำยอดขายเกินล้านตลับแล้ว หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่ง ‘รักคุณยิ่งกว่าใคร’ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นโลโก้ประจำตัว ‘ก๊อท-จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ’ เป็นที่เรียบร้อย
‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ โปรดิวเซอร์และนักร้องนำวงกัมปะนี เคยกล่าวว่า ขอแค่มีทำนองมาให้ เขตต์อรัญก็สามารถใส่เนื้อลงไปได้หมด
เขตต์อรัญเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่เซนต์คาเบรียล เพลงแรกที่แต่งชื่อว่า Today แต่งตอนอายุ 15 ปี โดยได้แรงบันดาลใจจากการเรียนวรรณคดีไทยต่างๆ แล้วรู้สึกสนุกกับการได้เขียนโคลงกลอน พอปีถัดมาเขาก็เริ่มจับกลุ่มเล่นกีตาร์ กระทั่งเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ยังไม่หยุด พอจบออกมาไปสอนกีตาร์คลาสสิกอยู่ที่สยามกลการ 4-5 ปี
และเมื่อเพื่อนรัก ‘ดนู ฮันตระกูล’ กลับจากเมืองนอก แล้วมาเปิดโรงเรียนดนตรี ศศิลิยะ เขตต์อรัญจึงลาออกมารับหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ พร้อมกับเขียนเพลงให้บริษัทบัตเตอร์ฟลาย ซาวน์แอนด์ฟิล์ม เซอร์วิส ที่ดนูตั้งกับเพื่อนอีกกลุ่ม เพื่อรับงานผลิตงานเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบโฆษณา เพลงประกอบละครเวที และทำอัลบั้มเพลงต่างๆ
กระทั่งปี 2525 โรงเรียนศศิลิยะอยากมีกิจกรรมพิเศษที่นอกเหนือจากการสอนดนตรี ครูแต่ละคนเลยช่วยกันทำเพลงจนกระทั่งออกมาเป็นผลงานชุด ‘เรามาร้องเพลงกัน’
อัลบั้มชุดนี้ถูกสร้างขึ้นตามจินตนาการของทีมงานเต็มที่ โดยเฉพาะเนื้อเพลงที่เขตต์อรัญหยิบนำไปเทียบกับปรัชญาทางศาสนาได้ลึกซึ้ง เช่นวีณาแกว่งไกว เปรียบชีวิตคนเราเหมือนการข้ามแม่น้ำสายใหญ่ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เป้าหมายสูงสุดก็คือการข้ามไปยังดินแดนทางความสุขที่แท้จริง นั่นคือพระนิพพาน ซึ่งการข้ามครั้งนี้จะสำเร็จก็ต้องอาศัย ทั้งสติ สมาธิ และความเพียร
หลังจากนั้นทีมงานก็ไปขอให้ เต๋อ-เรวัติ เพื่อนร่วมรุ่นมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยของเขตต์อรัญ ซึ่งตอนนั้นมาเรียนทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมที่โรงเรียนพอดีให้ช่วยร้อง แรกๆ เต๋อไม่ยอมร้องเพราะปกติไม่เคยร้องเพลงไทย แต่พอทีมงานฝากเดโม่กับอัสนีไปให้เต๋อ ปรากฏว่าฟังแล้วชอบมาก เลยยอมตกลง
เต๋อบอกว่า “ผมไม่เคยเห็นเทปชุดไหนในเมืองไทยทำถึงขนาดนี้เลย คือเขาละเอียดถี่ถ้วน มีการเขียนที่สวยงาม ถูกหลักวิชาด้วย เขาบอกไม่มีใครกล้าร้องเพลงเลยว่ามา กูร้องเองโดยไม่คิดอะไรเลย เป็นการช่วยเหลือเพื่อนฝูงกัน ผมต้องการให้ผลงานออกมามากกว่า แล้วก็หวังว่าเทปชุดนี้ ในอนาคตมันจะเป็นเทปประวัติศาสตร์”
และก็เป็นจริงดังเต๋อคาด เพราะอัลบั้มชุดนี้ขายไม่ได้เลย เนื่องจากความเข้มข้นของเพลงที่มากเกิน จนหลายคนบอกฟังไม่รู้เรื่อง กระทั่งสิบกว่าปีต่อมาจึงกลายเป็นอัลบั้มที่ใครๆ ก็ขวนขวายอยากหามาฟังสักครั้งในชีวิต
แม้ใครจะบอกว่าอัลบั้ม เรามาร้องเพลงกัน เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ แต่สำหรับเขตต์อรัญแล้วไม่ได้ถือว่างานชุดนี้ประสบสำเร็จ เพราะสุดท้ายก็ยังไม่สามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้ฟังในวงกว้างได้อยู่ดี
“เมื่อก่อนผมเขียนแต่เพลงหนักๆ เพราะเริ่มมาในวงการใหม่ๆ ยังหยั่งไม่ถูกว่า กำลังซื้อของคนอยู่ตรงไหน ก็ต้องแต่งเพลงให้เต็มที่ อย่างดนตรีคีตา-เวหาจักรวาล เป็นเนื้อเพลงที่ชอบมากที่สุด มันเป็นการมองธรรมะในแง่มุมของนักดนตรี มองว่าดนตรีมีกำเนิดมาจากไหนในโลกนี้ หรือว่ามีอยู่แล้ว แล้วเราไปจับเอามาใส่เครื่องดนตรี ซึ่งเพลงมันหนักมาก เนื้อเพลงจะมีสภาพเป็นกวีมากกว่าเพลงป๊อปสมัยนี้
“สำหรับผม เพลงที่เขียนยากคือเพลงที่เขียนแล้วให้ฮิต.. เพราะต้องการความเป็นสามัญมาก เวลาเขียนอะไรที่มีเนื้อหายาก เขียนอะไรที่คนไม่รู้เรื่องนี่ง่ายจะตาย เราอาจไปเปิดหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เจออะไรแปลกๆ เราก็ไปหยิบตรงนั้นมาเขียน แต่เขียนเรื่องธรรมดาแล้วให้คนชอบและรับได้นี่เป็นเรื่องยากมาก สิ่งที่สามัญเขียนยากที่สุด เพราะจะต้องเขียนออกมาในแนวคิด หรือมุมมองที่ไม่เคยมีใครเขียนมาก่อน ซึ่งเขียนเรื่องที่มีอยู่แล้วในแง่มุมใหม่นี่ยากมาก”
เขตต์อรัญ มักย้ำเสมอว่า เพลงที่ดีและดังได้ต้องอาศัยความสมดุลของสมองทั้งสองซีก อย่างอัลบั้มของวงคีตกวีชุดนั้นอาศัยแต่ซีกขวาหรือซีกจินตนาการเป็นหลัก จึงใช้เวลานานกว่าคนจะเข้าใจ ฉะนั้นเมื่อเขากลายเป็นทีมเขียนเพลงชุดหลักของแกรมมี่ ประเด็นนี้จึงถือว่าสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
ก่อนทำงานเขาจะต้องคุยกับศิลปิน เพื่อให้รู้ว่าเป็นยังไง คิดเรื่องอะไร และอยากจะให้เนื้อเพลงออกมาอย่างไร และถ้าเป็นไปได้ก็จะมีการพูดคุยกับทีมสร้างสรรค์ว่าต้องการสร้างภาพลักษณ์ศิลปินออกมาแบบไหน เพื่อให้เพลงที่ออกมาควรสะท้อนตัวตนของศิลปินมากที่สุด
จากนั้นพอได้ทำนองมาแล้ว เขาก็จะมานั่งฟังแล้วก็มาตกผลึกว่า อารมณ์ของเพลงควรเป็นอย่างไร ควรเล่าเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ถึงจะเหมาะสมที่สุด
“อย่างเพลงหนึ่งติ๊นาที่เป็นเพลงช้าๆ มีเสียงพูดภาษาฝรั่งเศสขึ้นมาตอนหัว ตอนที่ได้ยินทำนองตอนแรก รู้สึกว่าให้อารมณ์ที่เศร้าๆ และเสียงเปียโนที่อยู่ในเพลง มันคล้ายๆ อะไรหล่นลงมาตลอดเวลา เลยเขียนให้เป็นใบไม้ ซึ่งจริงๆ จะเขียนเป็นเรื่องอื่นก็ได้ แต่มานั่งคิดว่าถ้าเป็นเรื่องอื่น คริสติน่าจะแบกไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมันอาจจะลึกลับเกินไปกว่าที่ภาพของเขาจะรับได้”
วิธีการเขียนเพลงแบบเขตต์อรัญมาจากระบบความคิดบวกกับเทคนิคเป็นหลัก เขาเชื่อว่า ทักษะนี้ฝึกฝนได้ หากมีพื้นฐานที่ดี มีโครงสร้างความคิดที่ชัดเจน ย่อมสร้างเพลงที่มีคุณภาพได้เช่นกัน
อย่างเทคนิคหนึ่งที่เขาใช้ได้ผลเสมอมาคือ คำขึ้นต้นที่ดี
“ประโยคแรกต้องน่าสนใจ แล้วเดี๋ยวคนก็อยากฟังต่อไปเอง เช่นเดียวกับฮุคหรือท่อนเด็ด คำที่ใส่เข้ามาต้องเป็นคำที่แรงและติดหู อย่าง ‘เพราะตัวฉันเป็นเช่นบูมเมอแรง’ บางคนไม่รู้หรอกว่าทั้งเพลงนี่ร้องว่าไง เวลาเราฟังทำนองต้องรู้เลยว่าท่อนไหนเด่น ซึ่งบางทีมันคิดยาก เพราะบางทำนองมี 3 คำนี่สั้นนิดเดียว เราก็ต้องหา 3 คำที่ดีที่สุดในโลกเอามาใส่ตรงนี้ เพราะถ้าเป็นคำอื่นมันก็ไม่ฮิต”
ขณะเดียวกันการรู้จักสังเกตและต่อยอดสิ่งต่างๆ จากรอบตัว ก็สำคัญไม่แพ้กัน
เช่นไปเที่ยวภูเก็ต เจอลมพัดแรง ก็มาสร้างเป็นเพลง ‘พายุ’ ของไมโคร หรือนั่งรถเมล์ไปธรรมศาสตร์ แล้วเห็นป้ายของนักเคลื่อนไหวตามเสาไฟว่า ‘สักวันหนึ่ง เสียงขลุ่ยจะกลับไปสู่กอไผ่ตามเดิม’ ก็เอามาเขียนเพลง ‘ขลุ่ยผิว’
“ถ้าเพลงมาจากตัวเองเมื่อไหร่แปลว่าเราหมดตูดแล้ว ตัวเองนี่ต้องเก็บไว้เป็นเพลงสุดท้ายเลย.. นักแต่งเพลงทุกคนในโลก ไม่มีใครที่จะนึกขึ้นมาเองหรอก เขาใช้วิธีเดินไปเห็นอย่างนั้นแล้วก็เอาเขียน เหมือนจอห์น เลนนอน เดินไปหน้าร้านที่ขายของเล่น เห็นคำว่า Cry baby cry, make your mother buy ก็เอามาเขียนเพลง Cry Baby Cry หรือว่าพอล แมคคาร์นีย์ ไปเดินอยู่บนถนนเพนนี่ ก็แต่ง Penny Lane จริงๆ ต้องใช้ตรงนี้มากเลย มากในการเห็นอะไรแล้วสะดุด สะดุดแล้วเขียน ต้องเป็นคนสายตาดี”
แต่สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า ทั้งหมดควรอยู่บนพื้นฐานที่คนฟังเสพได้ เพราะการวัดว่าเพลงใดประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนฟังเป็นหลัก ถ้าคนฟังส่วนใหญ่ชอบก็แสดงว่าสำเร็จแล้ว ที่สำคัญยังยืนยันว่าเพลงนั้นดีพอที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน
“ไม่มีเพลงไหนที่คนชอบกันทั้งประเทศเลยแล้วมันไม่ดี อย่างนี้แปลว่าต้องมีอะไรดีแน่ๆ เพราะการที่คนส่วนมากชอบโดยมิได้นัดหมายกัน แปลว่าเนื้อหาสาระ ลีลาของทำนองเพลง มันต้องใจต้องตาของคนฟังเหลือเกิน นี่คือความดี นั่นคือคุณภาพของเพลง ที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับกรอกหูให้ฟัง ไม่เช่นนั้นมันจะติดอยู่สั้นๆ แล้วก็หมดไปเร็ว ไม่อยู่นานหรอก
“เพลงที่สำเร็จจะอยู่ของมันนานมากเลยต่อให้เทปขายหมดไปแล้ว คนก็ยังอยากฟัง ยังชอบอยู่ นั่นคืออะไรที่มันสำเร็จจริงๆ” และสิ่งเหล่านี้ก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ผ่านบทเพลงมากมายจากปลายปากกาของ ‘เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์’
ไม่มีเพลงไหนที่คนชอบกันทั้งประเทศเลยแล้วมันไม่ดี อย่างนี้แปลว่าต้องมีอะไรดีแน่ๆ
หลังอยู่ใต้ชายคาแกรมมี่มานับสิบปี ในปี 2540 เขตต์อรัญตัดสินใจลาออกจากค่ายใหญ่ เมื่อเต๋อจากไปได้ประมาณปีเศษ
เขาให้เหตุผลว่า..
“เพลงที่ผมแต่งในระยะหลัง ส่วนใหญ่แทบจะไม่ผ่านการพิจารณาเลย ผมถือว่าเราควรพิจารณาความสามารถของตัวเอง โดยมารยาทในการทำงานก็ถือว่าสมควรต้องลาออก”
จากนั้นเขาก็ไปเปิดร้านอาหารและผับดนตรี แถวทองหล่ออยู่พักใหญ่ก่อนเลิกรา เพราะหมดสัญญาเช่า แต่ถึงจะผันตัวไปทำอย่างอื่น สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดเลยทั้งชีวิตคือการแต่งเพลง
“ผมเป็นคนที่เขียนเพลงเพราะใจรักจริงๆ ไม่เคยเขียนเพราะจำใจต้องเขียนเลย ชอบที่เขียนเพลงมากมาตั้งแต่เด็กแล้ว เขียนมานานมากจนแบบ..ไม่น่าเชื่อ ผมคิดถึงเรื่องเขียนเพลงตลอดเวลา ไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลย”
เพราะความรักการเขียนเพลงแบบสุดหัวใจนี่เอง เมื่อปลายปี 2544 เขตต์อรัญจึงตัดสินใจถอดองค์ความรู้และประสบการณ์ของตัวเองตลอด 20 กว่าปีมาเป็นหนังสือ ‘คิดคำทำเพลง’ บันทึกเรื่องราวตั้งแต่เทคนิคการแต่งเพลงให้ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงเรื่องราวของธุรกิจเพลง รวมทั้งเปิดเว็บไซต์ Songchef เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยและแนะนำการเขียนเพลงโดยเฉพาะ
“ผมสอนมามากแล้ว ทั้งสยามกลการและศศิลิยะ แล้วก็ยังมีโทร.มาบ่อยๆ บอกให้เปิดสอนแต่งเพลงบ้าง แต่ก็บอกเขาว่าเอาไว้ก่อน เพราะเป็นคนขี้เกียจก็เลยเปลี่ยนมาเขียนตำราแทนแล้วกัน”
เขตต์อรัญเชื่อว่า การที่นักแต่งเพลงคนหนึ่งจะสำเร็จได้นั้น ไม่ได้อยู่ขึ้นกับพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเข้าใจในศาสตร์ของศิลปะอย่างแท้จริงด้วย
เขาจึงอยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือที่ช่วยแนะนำแนวทาง และเมื่ออ่านจนเข้าใจแล้ว ก็อยากให้ลืมกฎเกณฑ์ทุกข้อให้หมด แล้วเริ่มลงมือเขียน เขียนในสิ่งที่อยากเขียน เขียนออกจากใจ ไม่ต้องเขียนตามใคร เพราะนั่นเองคือจุดเริ่มต้นสู่การเป็นนักเขียนเพลงที่แท้จริง
นอกจากเรื่องเขียนเพลงแล้ว เขายังมีอีกฝันที่อยากทำให้สำเร็จ คือการรวมเพื่อนๆ บัตเตอร์ฟลายและศศิลิยะ มาจัดคอนเสิร์ตหลังจากแยกย้ายมานานกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นคอนเสิร์ต City of Butterfly เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 แต่น่าเสียดายที่วันนั้นเขาไม่มีโอกาสได้อยู่ดูความสำเร็จของตัวเอง
เขตต์อรัญจากไปด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ในวัย 55 ปี ทิ้งไว้เพียงบทเพลงและความทรงจำที่จะคงอยู่ในใจใครหลายคนตราบนานเท่านาน
ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จนสามารถก้าวข้ามคำดูถูกเหยียดหยามได้สำเร็จ
โจ้ Pause นักร้องเสียงมหัศจรรย์ ศิลปินผู้เป็นตำนานและแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง
สัมผัสแง่มุมชีวิตที่ไม่ธรรมดาของศิลปินและนักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงอันดับ 1 ของเมืองไทย
ศิลปินระดับตำนานแห่งวง The Impossible นักแสดง พิธีกร และอื่นๆ อีกมากมาย เจ้าของเสียงเพลงเป็นไปไม่ได้ ที่ยึดกุมหัวใจแฟนๆ ทุกวัย
นักร้องนักดนตรี ร็อกสตาร์เบอร์ต้นของเมืองไทย ชายผู้ทำให้เด็กไทยมากมายอยากลุกขึ้นมาจับกีตาร์
เรื่องราวและความทรงจำของนักร้องสาวแห่ง Bakery Music เจ้าของเพลงคนไม่พิเศษ นาเดีย สุทธิกุลพานิช
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.