มีคนจำนวนมากทั่วโลกที่ยกให้ เจ้าชายน้อย เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกในดวงใจ
เด็กชายผมสีทองดังทุ่งข้าวสาลี เดินทางไปยังดวงดาวต่างๆ พบเจอกับพวกผู้ใหญ่ที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง
เขาค่อยๆ ผูกสัมพันธ์กับสุนัขจิ้งจอก และเริ่มหวนคิดถึงดอกกุหลาบบนดวงดาวที่เขาจากมา เรื่องราวอันโรแมนติกและหม่นเศร้าเรื่องนี้ทำให้ใครต่อใครต้องกลับมาทบทวนความอ่อนโยนภายในใจของตน
ว่ากันว่า วรรณกรรมเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่ขายดีอันดับหนึ่งตลอดกาล ได้รับการแปลไปกว่า 200 ภาษาทั่วโลก แต่มีนักอ่านไม่มาก ที่รู้จักชีวิตของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี นักเขียนผู้ทำงานเป็นนักบินไปรษณีย์ข้ามทวีป
ในช่วงชีวิตของแซงเตก-ซูเปรี เขาประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกถึง 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายนั้นนักเขียนวัย 44 บินหายสาบสูญไปโดยไม่กลับมาอีกเลย ท่ามกลางปริศนาว่าถูกข้าศึกยิงตก เครื่องยนต์ขัดข้อง หรือเขาพยายามปลิดชีวิตของตน
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับนักเขียนผู้หลงรักการบิน ผู้มีชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นความตาย และใช้ความหม่นเศร้าผิดหวังเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์วรรณกรรมชั้นยอด
ความฝันที่จะได้บินบนฟ้า เกิดขึ้นตั้งแต่เขายังเด็ก
แซงเตก-ซูเปรี เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1900 ที่เมืองลียง ในครอบครัวชนชั้นสูง
เมื่ออายุเพียง 4 ขวบ พ่อก็เสียชีวิต แต่แม่ก็ดูแลลูกๆ ทั้ง 5 คน ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข แม่ของเขามักจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังโดยเฉพาะนิทานของ Hans Christian Andersen นอกจากนี้เธอยังชอบแต่งกลอนและวาดภาพ แซงเตก-ซูเปรี จึงได้รับพรสวรรค์ด้านการเขียนจากแม่ สมัยเด็กเขาเคยแต่งกลอนและปลุกแม่กับพี่สาวขึ้นมาตอนตีหนึ่งเพื่อฟังกลอนที่เขาเพิ่งแต่งเสร็จ โตขึ้นเขาเริ่มอ่านวรรณกรรมคลาสสิคของบัลซัคและดอสโตยอฟสกี ตอนมัธยมปลายก็เคยได้รับรางวัลการเล่านิทานของโรงเรียน
เช่นเดียวกับความสนใจด้านเครื่องยนตร์กลไกที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย ว่ากันว่าเขาเคยทำมอเตอร์เครื่องสูบน้ำระเบิดขณะพยายามแกะชิ้นส่วนดูว่าเครื่องยนต์ทำงานอย่างไร รวมทั้งเคยทำจักรยานบิน แม้ว่าจะบินไม่ได้ก็ตาม
แซงเตก-ซูเปรีได้นั่งเครื่องบินครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี เวลานั้นบ้านของเขาอยู่ไม่ไกลสนามบิน เด็กชายมักขี่จักรยานไปดูและถามคำถามเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเครื่องบินอยู่เป็นชั่วโมงๆ ในที่สุดนักบินก็อนุญาตให้เขาขึ้นไปบนท้องฟ้าด้วย ประสบการณ์ครั้งนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนักบิน
เมื่อจบมัธยมปลายเขาไปปารีสเพื่อเตรียมตัวสอบโรงเรียนนายเรือ แต่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน เพราะไม่ยอมทำเรียงความเรื่อง ‘ความรู้สึกของทหารที่กลับจากสงคราม’ เขาให้เหตุผลว่า ไม่สามารถบรรยายความรู้สึกที่ไม่เคยประสบนั้นได้
ต่อมาเขาเข้ารับราชการทหาร ทำงานเป็นช่างเครื่องในกองทัพอากาศ ก่อนได้ฝึกบินและเป็นนักบินเต็มตัวสมใจ แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งแรกในปี 1923 แซงเตก-ซูเปรีก็ถูกปลดประจำการและไม่ได้เริ่มบินอีกเลยจนกระทั่งปี 1926
เขากลับคืนสู่ท้องฟ้าอีกครั้งเมื่อเข้าทำงานในบริษัทเรือบินน้ำที่ตูลูส ทำหน้าที่จัดส่งไปรษณีย์ในเส้นทางตูลูส-คาซาบลังกา ต่อมาถูกส่งไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีในทวีปแอฟริกา
แซงเตก-ซูเปรี รักการผจญภัย เขาจึงรักงานการบิน เพราะทำให้ค้นพบดินแดนใหม่ๆ ทัศนียภาพอันแปลกตา สภาวะอากาศที่ไม่รู้จัก ขณะเดียวกัน การฝังตัวในห้องเล็กๆ ที่ห่อหุ้มด้วยเหล็ก บนที่สูงจากพื้นโลกนับหมื่นๆ ฟุตเพียงลำพัง ก็ทำให้เขาใคร่ครวญและค้นพบว่า ชีวิตมนุษย์นั้นบอบบางและโดดเดี่ยว
นอกจากภารกิจส่งไปรษณีย์ เขายังมีหน้าที่ออกค้นหานักบินที่ประสบอุบัติเหตุซึ่งมีเป็นประจำทุกเดือน สิ่งเหล่านี้เองเป็นวัตถุดิบชั้นดีในงานประพันธ์
หลายเหตุการณ์ใน ‘ไปรษณีย์ใต้’ -นวนิยายเรื่องแรก คือประสบการณ์จริง เช่น ความรู้สึกที่บินในเส้นทางใหม่ครั้งแรก ความหวาดกลัวขณะหลงทาง ความรู้สึกดีใจที่ปฏิบัติภารกิจลุล่วง ตลอดจนความกระวนกระวายที่หาเครื่องบินที่ขาดการติดต่อไม่พบสักที
ไปรษณีย์ใต้ ประสบความสำเร็จทันทีที่วางตลาด และทำให้เขาหันมาสนใจงานเขียนมากขึ้น อีกสองปีต่อมานวนิยาย เที่ยวบินกลางคืน ที่ว่าด้วยการบุกเบิกการบินในเวลากลางคืนเพื่อทำให้การขนส่งไปรษณีย์ทางอากาศเร็วกว่าทางเรือหลายเท่า ก็ได้รับรางวัลเฟมินา
วันที่ 29 มีนาคม 1935 แซงเตก-ซูเปรี ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ประเทศลิเบียจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เขาและช่างเครื่องต้องเดินทางกลางทะเลทรายซาฮาราถึง 3 วัน 3 คืน ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากคาราวานเผ่าเบดูอิน เรื่องราวเฉียดตายครั้งนี้นำมาเล่าไว้ในหนังสือ ‘แผ่นดินของเรา’ ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความงดงามของมนุษย์ที่อยู่เหนือเผ่าพันธ์ุ ฐานะ และสีผิว
“ในที่นี้ เชื้อชาติภาษา และการแบ่งแยกไม่มีอยู่ มีแต่ชนเร่ร่อนในทะเลทรายที่ยากจนคนหนึ่งที่ได้วางมือแห่งเทวะลงบนไหล่ของเรา”
แซงเตก-ซูเปรี จำใบหน้าชาวเบดูอินที่ช่วยชีวิตไม่ได้ แต่สำหรับเขา “ใบหน้าของเธอในความทรงจำฉันคือใบหน้าของมนุษย์ทุกคน เธอไม่ได้มองหน้าเราเลย แต่เธอก็ได้รู้จักเราแล้ว เธอคือภราดาอันเป็นที่รัก… ฉันจะรู้จักเธอในมนุษย์ทุกคน”
ในทะเลทรายที่ขาดแคลน แม้แต่น้ำยังหาได้ยาก แซงเตก-ซูเปรี ได้พบความประเสริฐของมนุษย์ที่ต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง เขารู้สึกเหมือนไม่มีศัตรูเหลืออีกแล้วบนโลกใบนี้
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แซงเตก-ซูเปรี ถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นผู้สอนเทคนิกการขับเครื่องบิน แต่เขากลับดื้อ ออกบินเสียเองทั้งๆ ที่แพทย์สั่งห้าม เขาวิ่งเต้นจนได้ร่วมบินกับหน่วยลาดตระเวน
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องที่ 4 คือ ‘นักบินยามสงคราม’
ต่อมาฝรั่งเศสถูกเยอรมันเข้ายึดครอง แซงเตก-ซูเปรี เดินทางโดยเรือไปยังนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาช่วยฝรั่งเศสทำสงครามกับเยอรมัน ปลดปล่อยแผ่นดินเกิดของเขาให้เป็นอิสระ
แต่ในช่วงที่อยู่นิวยอร์กเขากลับรู้สึกหดหู่ เนื่องจากความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของพวกลี้ภัยชาวฝรั่งเศส แซงเตก-ซูเปรี ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เพราะไม่อยากให้คนฝรั่งเศสแตกกัน แต่เขากลับถูกกล่าวหาจากทุกฝ่ายและโดนโจมตีอย่างหนัก ผนวกกับช่วงนั้นเขาประสบปัญหาครอบครัวที่ไม่ราบรื่น ภรรยามีชู้ ในขณะที่เขาเองก็เหมือนจะแอบรักผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
แซงเตก-ซูเปรีรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวเหมือนอยู่กลางทะเลทราย เขาอยากหนีความจริงกลับไปหาวัยเด็กของตน สิ่งเหล่านี้เองกลั่นตัวกลายเป็นวรรณกรรม ‘เจ้าชายน้อย’
เจ้าชายน้อยตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา วรรณกรรมชิ้นนี้โจมตีโลกของผู้ใหญ่ที่หมกมุ่นอยู่กับอำนาจ ตัวเลข วัตถุ ตรงกันข้ามกับเจ้าชายน้อยผู้เห็นสิ่งสำคัญด้วยหัวใจไม่ใช่ดวงตา หลังจากได้อ่าน คนก็เข้าใจนักเขียนผู้นี้และกลับมายอมรับนับถือเขาอีกครั้ง
1 ปีหลังจากเจ้าชายน้อยได้รับการตีพิมพ์ แซงเตก-ซูเปรี อายุ 44 เขาไม่ได้รับการอนุญาตให้ขับเครื่องบินต่อสู้แล้วเพราะกระดูกร้าวจากการประสบอุบัติเหตุหลายครั้ง แต่ก็พยายามวิ่งเต้นจนได้บินร่วมในหน่วยลาดตระเวน เขาพยายามออกบินอยู่เสมอเท่าที่จะทำได้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 1944 ระหว่างที่บินเหนือน่านฟ้าตอนใต้ของฝรั่งเศส เขาก็ไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีใครรู้ว่านักเขียนเจ้าชายน้อยประสบอุบัติเหตุ ถูกเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันยิงตก หรือเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว
ความตายของแซงเตก-ซูเปรี เป็นปริศนา จนกระทั่งกว่า 50 ปีต่อมา ในปี 1998 ชาวประมงแถบตอนใต้ของเมืองมาร์แซย พบซากเครื่องบินของแซงเตก-ซูเปรี และสร้อยข้อมือสลักชื่อเขา,ภรรยา,สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์งาน ช่วยยืนยันว่าเขาจบชีวิตลงที่นั่น
มีการค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตนานนับสิบปี นักประวัติศาสตร์ชื่อ ลิโน ฟอน การ์ตเซิ่น พยายามติดต่ออดีตนักบินของกองทัพเยอรมันนับร้อยคนก่อนจะตีวงให้แคบเหลือเพียง 5 คน ในที่สุดก็ได้พบ ฮอร์สต์ ริปเพิร์ต ที่เป็นคนยิงเครื่องบินของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่
ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1944 ขณะที่ริปเพิร์ตขับเครื่องบินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเขตยึดครองของเยอรมนี เขาเห็นเครื่องบิน P-38 Lightning บินต่ำอยู่ลำเดียวเหนือท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นักบินขับโดยไม่ได้ระมัดระวังว่ามีเครื่องบินศัตรูอยู่ใกล้ ราวกับเขากำลังอยู่ในห้วงแห่งความรื่นรมย์
ริปเพิร์ตตัดสินใจยิงเครื่องบินลำนั้น กระสุนตรงเข้าที่ปีกและทำให้เจ้านกยักษ์ร่วงลงไปในทะเล ก่อนจมลับไป
นักบินกองทัพเยอรมันปฏิบัติภารกิจสำเร็จ โดยที่เพิ่งมารู้ทีหลังว่า ชายในเครื่องบินลำนั้นคือแซงเตก-ซูเปรี นักเขียนที่เขาชื่นชมมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน ริปเพิร์ตรู้สึกเจ็บปวด
“..งานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราหลายคนฝันอยากเป็นนักบินมืออาชีพ พวกเขาบอกผมภายหลังว่านั่นคือแซงเตก-ซูเปรี…โอ มันเหมือนกับหายนะ
“ผมหวัง และยังหวังว่านั่นไม่ใช่เขา”
อย่างไรก็ตาม คนจำนวนไม่น้อยต่างสงสัยว่า ทำไมแซงเตก-ซูเปรี ถึงฝืนคำสั่งแพทย์เพื่อกลับไปขับเครื่องบิน ทั้งที่มันเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตราย เขาไม่เห็นคุณค่าของชีวิตหรืออย่างไร
บางทีคำตอบนั้น อาจคือประโยคที่แซงเตก-ซูเปรีเคยเขียนไว้ในหนังสือ เที่ยวบินกลางคืน
“เราจะมีความสุขก็เมื่อเรารู้สำนึกถึงบทบาทแม้เพียงเล็กน้อยที่สุดของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะมีชีวิตอยู่อย่างสันติ จะตายไปอย่างสันติสุข เพราะว่าสิ่งที่ให้ความหมายต่อชีวิต ก็ให้ความหมายต่อความตาย”
สิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิตแซงเตก-ซูเปรี ก็คือการขับเครื่องบินนั่นเอง
นักข่าวโทรทัศน์คนแรกของเมืองไทย ผู้นำเสนอภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สู่สาธารณะจนกลายเป็นบุคคลล้มละลายอยู่นานหลายปี
ชายนักฝัน ผู้หวังเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นเมืองแห่งการอ่าน ด้วยการสร้างร้านหนังสือขนาดสนามฟุตบอล
โค้ชอ๊อต อดีตหัวหน้าสต๊าฟโค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ผู้ที่ทำให้ทีมโนเนม กลายเป็นทีมระดับโลกที่มีผู้คนต่างยกนิ้วให้
สุดยอดนักข่าว ผู้เป็นต้นแบบของสื่อมวลชน จนนำชื่อไปใช้เป็นสถาบันของสมาคมนักข่าวฯ
ตำนานช่างภาพระดับโลก ผู้ยกระดับภาพแฟชั่นไปสู่โลกที่เหนือจินตนาการ และไม่เคยล้าสมัย
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานที่เป็นทั้งแรงบันดาลและต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม
นักแปลสองพี่น้อง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิยายจีนกำลังภายใน และเป็นเจ้าของผู้สร้างผลงานที่แรงบันดาลใจให้นักอ่านมาแล้วนับไม่ถ้วน
ย้อนตำนานนิตยสารอันดับ 1 ตลอดกาลของเมืองไทย คู่สร้างคู่สม ผ่านเรื่องราวของบรรณาธิการตัวจริงเสียงจริง
นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของผลงาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ กับความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากยกระดับการอ่านให้เด็กไทยทั่วประเทศ
เส้นทางของวรรณกรรมเยาวชน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือที่จุดกระแสการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเพลิดเพลินกับเวทมนตร์และการผจญภัยของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์อมรินทร์ ร้านนายอินทร์ และนิตยสารชั้นนำของเมืองไทย ผู้เปิดโลกการอ่านให้คนไทยมามากมายหนังสือ
นักเขียนตำนานในตำนาน แห่งเบบี้และขายหัวเราะ เจ้าของผลงานการ์ตูนติดเกาะ โจรมุมตึก และอื่นๆ อีกมากมาย
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.