ภูเก็ต วาจานนท์ : ครูแพทย์..ผู้ให้ตลอดกาลแห่งศิริราช

<< แชร์บทความนี้

แม้จะผ่านมานานกว่า 30 ปี แต่เทปบรรยายวิชาประสาทกายวิภาคศาสตร์ที่อาจารย์แพทย์สูงวัยในชุดสูทสีขาวบันทึกไว้ ก็ยังถูกส่งต่อไปถึงนักศึกษาแพทย์ศิริราชรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่เปลี่ยนแปลง

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้วีดิโอที่แทบปราศจากความคมชัดชุดนี้ยังถูกใช้งานอยู่ ท่ามกลางองค์ความรู้ และวิทยาการสมัยใหม่ที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว

บางทีอาจเป็นเพราะทักษะการสอนอันยอมเยี่ยมจนยากจะหาใครเทียบ โดยเฉพาะวิชานี้ซึ่งเปรียบได้กับยาขมหม้อโต แต่ท่านกลับอธิบายเนื้อหาแสนยากให้เข้าใจง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยบุกเบิกการพิมพ์ตำราราคาย่อมเยาของศิริราชพยาบาล โดยผลักดันและสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง กระทั่งโครงการเล็กๆ เติบใหญ่ กลายเป็นสำนักพิมพ์ศิริราช ผลิตหนังสือดีออกสู่ตลาดวิชาการหลายร้อยหลายพันเล่ม

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขอชักชวนทุกท่านมารู้จักกับเรื่องราวของครูคนสำคัญ ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนแพทย์มากมาย

ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์

เกิดมาเพื่อเป็น 'ครู'

“ตอนนี้อายุ 80 ปีแล้ว อะไรๆ ก็พร้อมจะลืม แต่ไม่เคยลืมอาจารย์ภูเก็ตเลย เพราะท่านเป็นบุคคลที่น่าประทับใจ ท่านสอนสิ่งที่ยากสุดอย่างระบบประสาทให้กลายเป็นเรื่องง่าย เร้าใจ น่าติดตาม” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงครูที่เคารพที่สุดท่านหนึ่งในชีวิต

‘ประสาทกายวิภาคศาสตร์’ เป็นวิชาที่ว่าด้วยโครงสร้าง ส่วนประกอบต่างๆ ของระบบประสาท ซึ่งเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการทำงานของอวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆ ให้สามารถขยับ พูดจา กินอาหาร หรือทำกิจกรรมใดๆ ในชีวิตได้ จึงถือเป็นศาสตร์พื้นฐานที่คนเรียนแพทย์ทุกคนต้องเข้าใจถ่องแท้ ก่อนก้าวไปศึกษาวิชาอื่นที่สูงขึ้นต่อไป

ทว่าการเรียนวิชานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการทำงานของระบบประสาทนั้นซับซ้อน มองเห็นได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อ 50-60 ปีที่ยังไม่ได้วิทยาการหรือเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วย จึงต้องอาศัยครูที่มีทักษะการสอนเป็นเลิศ ทำหน้าที่เชื่อมโยงความรู้สู่ความเข้าใจการทำงานของระบบประสาทกับการควบคุมร่างกายมนุษย์

อาจารย์ภูเก็ต วาจานนท์ แห่งภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นับเป็นครูแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้มากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ว่ากันว่าท่านสามารถอธิบายตำแหน่งของรอยโรคได้ละเอียด ซึ่งปัจจุบันนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เครื่อง เอ็ม.อาร์.ไอ.

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ เล่าว่า อาจารย์เป็นครูที่รู้ลึก รู้จริง รู้กว้าง เวลาบรรยายจะใช้ถ้อยคำและสำนวนเปรียบเทียบ ช่วยให้วิชาที่ยากกลายเป็นวิชาที่สนุกและน่าติดตาม และแม้ไม่ใช่นักเรียนแพทย์ แต่ถ้ามีพื้นฐานทางชีววิทยามาบ้าง ก็อาจเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนได้ไม่ยาก

“อาจารย์เป็น Born to be คือเกิดมาเพื่อเป็นครู เป็นครูที่สอนเก่งที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเลกเชอร์หน้าชั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องพูดให้เข้าใจ ชัดเจน มีทั้งพรรณนาโวหาร มีลำดับขั้นจากง่ายไปถึงยาก”

อย่างสมัยก่อน ครูบางคนอาจให้เรียนเรื่องสมองก่อน เพราะถือเป็นหัวใจหลักของระบบประสาท แต่อาจารย์ภูเก็ตกลับเห็นว่า สมองเป็นเรื่องยากและซับซ้อน จึงเปลี่ยนมาเรียนเรื่องไขสันหลัง ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าเป็นตอนแรก จากนั้นก็ขยับไปเรียนก้านสมอง แล้วจึงเรื่องเรียนสมองใหญ่เป็นตอนสุดท้าย

นอกจากนี้ อาจารย์ยังใช้เทคนิคสารพัดมากระตุ้นให้ลูกศิษย์สนใจ และซึมซับความรู้ให้มากที่สุด

อย่างการใช้ชอล์ก ท่านกำหนดให้ชอล์กแต่ละสีเป็นตัวแทนส่วนต่างๆ ในระบบประสาท เส้นสีแดงหมายถึงประสาทสั่งการ เส้นสีเหลืองหมายถึงประสาทรับความรู้สึก จากนั้นก็วาดให้เห็นการทำงานว่าแต่ละส่วนเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันอย่างไร ทำให้นักเรียนเข้าใจ โดยไม่ต้องจดบันทึกอะไรมากมาย

บางครั้งก็ยกกิจวัตรในชีวิตประจำวันมาเปรียบเทียบให้ฟัง เพื่อให้นักศึกษานึกภาพตามได้โดยง่าย

“อาจารย์สอนว่า ท่าเดินแต่ละท่าประกอบด้วยเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ต้องเคลื่อนตัวแบบนี้ ต้องทรงตัวแบบนี้ถึงจะดี พอเรียนเสร็จเราก็นั่งจับกลุ่มสังเกตว่าทำไมคนนี้ถึงเดินแบบนี้ ถือเป็นการเรียนที่ไม่แห้ง และกระตุ้นให้เรารู้จักคิดและวิเคราะห์มากขึ้น” อาจารย์ชนิกาเสริมภาพให้ชัด

ด้วยการสอนที่เน้นความเข้าใจของนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่เพียงทำให้ประสาทกายวิภาคศาสตร์กลายเป็นวิชาในดวงใจของนักเรียนหลายคน แม้แต่เด็กหลังห้องที่ไม่ค่อยเข้าเรียน ก็ยังกลับมาตั้งใจอีกครั้ง

นอกจากเรื่องการเรียนแล้ว อาจารย์ยังให้ความใส่ใจกับการวางตัว และบุคลิกภาพเป็นที่สุด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจดจำภาพของครูท่านนี้ได้ดี แม้จะผ่านมานานร่วม 30 ปีแล้วก็ตาม เล่าว่า

“อาจารย์เป็นคนที่เนี้ยบมาก ตั้งแต่หัวจรดเท้า รองเท้ามันเงา เสื้อกลีบโง้ง เข็มขัดเข้ารูป เสื้อขาว กางเกงขาว หวีผมเรียบแปล้ ความเป๊ะของท่านทั้งการพูด การแต่งตัว แม้จะไม่ดุเลย แต่ก็ทำให้เราเกรงเหมือนกัน

“แต่สิ่งที่ผมประทับใจสุด คือท่านไม่ได้สอนแค่บทเรียนเท่านั้น แต่ยังสอนการปฏิบัติตัวด้วย เช่นตอนเป็นวัยรุ่น ผมไม่ชอบใส่รองเท้าหนัง เพราะไม่เท่ ต้องพยายามหลบ แต่สุดท้ายไม่พ้น ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่บอกว่า เราเป็นหมอควรแต่งตัวให้สุภาพ ให้คนที่เห็นยอมรับ ตอนนั้นไม่เชื่อหรอก เพราะคิดว่าคุณค่าของคนอยู่ในใจ ไม่ใช่เปลือกนอก แต่พอเวลาผ่านไป ถึงรู้ว่าความศรัทธาต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่คนมองเข้ามา ถ้าเราสร้างศรัทธาได้แล้วเรื่องอื่นก็จะตามมาเอง”

และนั่นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เด็กผู้คลั่งไคล้แต่กิจกรรมผู้นี้ กลายเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกและข้อที่ได้รับการยอมรับและนับถือจากคนไข้มาถึงทุกวันนี้

เส้นทางการเป็นครู

“เป็นเกียรติของแผนกกายวิภาคศาสตร์” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ปรมาจารย์กายวิภาคศาสตร์ของเมืองไทย เคยเอ่ยประโยคนี้เมื่อทราบอาจารย์ภูเก็ต มาสมัครเป็นอาจารย์ร่วมภาควิชา เมื่อปี 2494

เพราะสมัยก่อนกายวิภาคศาสตร์ เป็นภาควิชาที่ใครๆ ต่างขยาด ไม่อยากมาอยู่ เนื่องจากงานหนักแต่รายได้น้อย จึงเป็นเรื่องแปลกที่นักเรียนแพทย์ระดับหัวกะทิของรุ่น เลือกเส้นทางนี้

อาจารย์ภูเก็ตเล่าว่า ส่วนตัวแล้วสนใจวิชาอักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์มากที่สุด แต่สมัยนั้นหากเรียนต่อในสายที่ชอบก็คงหาอาชีพทำไม่ได้ เลยเบนเข็มมาเรียนแพทย์แทน และเมื่อเรียนจบก็ไม่อยากแข่งขันกับใคร จึงมาประจำอยู่ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์

“คนเราอาจคิดว่า คนที่เรียนดีจะช่วยให้ชีวิตและการงานก้าวหน้าและโดดเด่น แต่สำหรับชีวิตผมเป็นคนที่เรียบง่ายเป็นธรรมดา มีผู้อุปการะมาตลอด จะไปนอกก็พอดีมีทุน ก.พ. ตอนสอบก็ไม่ต้องแข่งขันกับใครเพราะมีคนสอบไปเรียนกายวิภาคอยู่คนเดียว.. สรุปแล้วชีวิตผมก็ไม่มีอุปสรรคอะไร”

แม้จะบอกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี แต่ถ้าว่าตามความสามารถแล้ว ต้องถือว่าอาจารย์ภูเก็ตไม่เป็นสองรองใคร ท่านใช้เวลาไม่ถึง 3 ปีก็เรียนจบทั้งปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แถมยังได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกของศาสตราจารย์อลิซาเบท ซี. ครอส์บีย์ นักประสาทกายวิภาคศาสตร์ชื่อดังอีกด้วย

เมื่อกลับมาเมืองไทยในปี 2503 แทนที่จะทำงานวิจัยเหมือนคนอื่น อาจารย์กลับบอกว่า ไม่อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงหันไปทุ่มเทเรื่องการสอนพร้อมหาวิธีการที่ช่วยให้การเรียนแพทย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โครงการหนึ่งที่อาจารย์บุกเบิก เมื่อปี 2510 คือ ‘โครงการเสริมตำราเรียน’

เพราะตำราภาษาอังกฤษในยุคนั้นมีจำกัดและราคาแพงมาก โดยเฉพาะ Carpenter (Rev.) : Strong and Elwyn’s Human Neuroanatomy ตกเล่มละพันกว่าบาท นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอ อาจารย์จึงใช้เงินส่วนตัวสั่งซื้อตำราเข้ามาให้นักเรียนเช่าในราคาถูก ประมาณ 25% ของราคาปก

ครั้งนั้นอาจารย์วางกฎว่า ผู้เช่ามีสิทธิใช้ตำราเล่มนั้นตลอดปีการศึกษา แต่ต้องชำระค่าเช่าก่อนรับตำรา โดยต้องส่งคืนภายใน 7 วัน หลังสอบเสร็จครั้งสุดท้าย หากต้องสอบแก้ตัวจึงค่อยมายืมใหม่ และกรณีที่ตำราชำรุดเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือเกิดสูญหาย ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ โดยชำระเงินค่าตำราในราคาตามสภาพ

สำหรับเงินค่าเช่าที่ได้รับ อาจารย์นำมาเป็นทุนจัดซื้อตำราเพิ่มเติม เพียงปีเดียว จากเดิมที่มีอยู่ 22 เล่ม ก็เพิ่มมาเป็น 86 เล่ม และต่อมาเมื่อปี 2514 ก็ได้จัดซื้อตำราฉบับพิมพ์ใหม่เพิ่มอีก 50 เล่ม พร้อมลดค่าเช่าลงเรื่อยๆ

โครงการนี้ทำให้นักเรียนแพทย์มีตำราเรียนครบถ้วน และมีทุนเพียงพอในการจัดซื้อตำรารุ่นใหม่ๆ ที่ปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยขึ้น ที่สำคัญยังขยายบริการไปยังหน่วยงานอื่นที่ต้องใช้ตำราเล่มนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคณะทันตแพทยศาสตร์ และภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากเรื่องนักเรียนแล้ว การพัฒนาศักยภาพของครูแพทย์ด้วยกันเองก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจ เพราะหากต้องการได้แพทย์ที่ดีและเก่งแล้ว ครูแพทย์เองก็ต้องพร้อมให้ความรู้ และความเข้าใจแก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่ แต่ปัญหาคือ ครูหลายคนขาดทักษะการสื่อสารที่ดี

อาจารย์เป็นทั้งพี่เลี้ยงที่คอยประคับประคองชี้แนะรุ่นน้อง ตั้งแต่เทคนิคการสอน ภาษาที่ควรใช้ ไปจนถึงการออกข้อสอบอย่างไรจึงจะเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นตัวตั้งตัวตีจัดอบรมระยะสั้นเรื่อง ‘หลักการทางครุศาสตร์สำหรับอาจารย์โรงเรียนแพทย์’ เพื่อปูพื้นเทคนิคการสอนแก่บรรดาครูแพทย์ พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้

แม้กิจกรรมนี้จะมีเพียงไม่กี่ครั้ง แต่อย่างน้อยก็ช่วยวางรากฐานความคิด ให้ครูแพทย์กลับมาตระหนักและปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอนของตัวเอง เพื่อจะได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคมต่อไปฟ

บุรุษเบื้องหลังตำราแพทย์

ด้วยความเป็นนักคิด นักจัดการมือดี อาจารย์ภูเก็ตจึงมักเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางระบบต่างๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการคณะ เลขานุการศิริราชมูลนิธิ รวมถึงเลขานุการคณะกรรมการประชุมวิชาการ

แต่โครงการที่ท่านมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว คือ ‘โครงการตำรา-ศิริราช’

ความจริงคณาจารย์ในศิริราชพยาบาลใฝ่ฝันที่จะเห็นโครงการนี้มานานแล้ว เพราะสมัยก่อนตำราแพทย์ภาษาไทยมีน้อยมาก ต้องอาศัยสโมสรนักศึกษาแพทย์ตามโรงเรียนต่างๆ เป็นผู้ผลิต ทำให้นักศึกษาไม่สามารถทุ่มเทให้กับการเรียนได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือแพทย์ในต่างจังหวัดก็แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงตำราแพทย์ดีๆ ทำให้ขาดความรู้ที่จะช่วยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดีขึ้น

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะติดปัญหาสารพัด ทั้งเรื่องเงินทุน ผู้ดำเนินการ และการตรวจต้นฉบับว่าเหมาะสมที่จะจัดพิมพ์หรือไม่

กระทั่งปี 2516 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เสนอให้ผู้บริหารของคณะแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเริ่มต้นผลิตตำราแพทย์อย่างเป็นทางการ โดยปีแรกนั้น อาจารย์ภูเก็ตยังไม่ได้เข้าร่วมแต่อย่างใด กระทั่งปีที่ 2 จึงได้รับทาบทามให้มารับหน้าที่ประธานกรรมการโครงการฯ

“ผมรับตำแหน่งนี้เพราะสนใจและตรงกับแนวคิดของผมอยู่แล้ว เนื่องจากผมเป็นผู้ดำเนินการโครงการเสริมตำราเรียนของภาควิชากายวิภาคอยู่ก่อนแล้ว.. โดยเริ่มแรกเรามีเงินทุน 17,000 บาท”

วัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ การส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิชาการ เขียนตำราและบทความทางวิชาการภาษาไทยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่วงกว้าง อีกมุมหนึ่งยังเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนจะได้พัฒนาความรู้ของตัวเอง รวมทั้งเพิ่มพูนทักษะด้านการสื่อสารให้แหลมคมขึ้น

หลายคนที่ไม่เคยเขียนหนังสือเลยก็มาเริ่มต้นที่นี่ โดยมีอาจารย์ภูเก็ตเป็นพี่เลี้ยง คอยตรวจแก้ต้นฉบับ ปรับสำนวนภาษาให้สละสลวย ชวนอ่าน และถูกต้องตามหลักวิชาการ

อาจารย์ชนิกาซึ่งมีประสบการณ์ทำหนังสือโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสมในเด็ก เมื่อปี 2523 เล่าว่า

“สิ่งหนึ่งที่จำได้คือ เวลาพบอาจารย์ตอนเช้าดินสอทุกแท่งนั้นเหลาแหลมเปี๊ยบ แต่พอตกบ่ายก็ทู่หมด เพราะท่านขยันมาก มุ่งมั่นในการทำงานและจะตรวจแก้ต้นฉบับไปเรื่อยๆ ทำให้หนังสือมีคุณภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน ที่สำคัญท่านเป็นคนประหยัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการใช้กระดาษ เช่น เวลาเขียนโต้ตอบจดหมายกับพวกเรา อาจารย์จะเอาซองเก่ามาขีดทิ้งแล้วเขียนใหม่ ทุกอย่างรียูสหมด”

สำหรับหลักคิดในการเรียบเรียงตำรานั้น อาจารย์ภูเก็ตเล่าว่า เมื่อเป็นตำราภาษาไทยก็ควรใช้ภาษาไทยให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะตำราที่พิมพ์ออกมาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโรงเรียนแพทย์เท่านั้น แต่ใช้กันทั่วประเทศ

“การใช้ภาษาของเราเอง ถ้าดีพอจะทำให้เข้าใจได้รวดเร็วและติดอยู่ได้นาน.. นอกจากนั้นยังเป็นแนวทางให้อาศัยภาษานี้เป็นสื่อต่อไปยังผู้ป่วยไข้และสามัญชนได้สะดวกขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ท่านยังสนับสนุนการจัดพิมพ์ตำราวิชาการหน่วยงานอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ถ้าคำนวณแล้วเห็นว่าขายลำบาก อาจารย์ก็ยินดีจัดการต้นฉบับ เพื่อให้ผู้เขียนสามารถนำเสนอสำนักพิมพ์อื่นได้

ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ดูแลโครงการ อาจารย์ได้จัดพิมพ์ตำรำรวมทั้งสิ้น 144 รายการ

ที่สำคัญท่านยังทำงานทั้งหมด ตั้งแต่ปรับแก้ต้นฉบับ ออกแบบหน้าปก พิสูจน์อักษร รวมถึงประสานงานโรงพิมพ์ โดยไม่คิดค่าแรง ส่งผลให้สามารถจำหน่ายหนังสือในราคาที่ถูกมาก เมื่อพ้นจากหน้าที่ยังมีเงินเหลือส่งคืนคณะกว่า 23 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับการพิมพ์ตำราเผยแพร่ต่อไป

คนเราอาจคิดว่า คนที่เรียนดีจะช่วยให้ชีวิตและการงานก้าวหน้าและโดดเด่น แต่สำหรับชีวิตผมเป็นคนที่เรียบง่ายเป็นธรรมดา

ภูเก็ต วาจานนท์ : ครูแพทย์..ผู้ให้ตลอดกาลแห่งศิริราช

ครูแพทย์ตลอดกาล

แม้วันนี้อาจารย์ภูเก็ตจะจากไปร่วมสิบปีแล้ว แต่นักเรียนศิริราชรุ่นหลังก็ยังคุ้นเคยกับครูแพทย์ที่ชื่อ ‘ภูเก็ต วาจานนท์ ไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากดีวีดีการบรรยายวิชาประสาทกายวิภาคศาสตร์ จำนวน 32 ตอน ความยาว 36 ชั่วโมงที่ท่านบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2529 ยังคงถูกเปิดใช้จนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นของเทปบันทึกภาพฉบับนี้ เกิดขึ้นเมื่ออาจารย์ภูเก็ตในวัย 57 ปี มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะที่กำลังอภิปราย จนพูดและขยับตัวไม่ได้ และถูกนำตัวส่งเข้าห้องฉุกเฉินทันที

“นอกจากเป็นห่วงอาจารย์แล้ว อีกเรื่องที่กังวลคือใครจะสอนแทน เพราะไม่ได้เตรียมคนไว้เลย เนื่องจากอาจารย์ยังแข็งแรงอยู่ โชคดีที่ตำแหน่งที่แตกไม่ใช่จุดสำคัญ พอเลือดหยุดก็แทบไม่มีอาการหลงเหลือ” อาจารย์สรรใจกล่าว

หลังนอนพักในโรงพยาบาลร่วมเดือน อาจารย์ภูเก็ตเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องสร้างบุคลากรขึ้นมาทดแทน จึงเปิดบรรยายพิเศษสำหรับอาจารย์ รวมถึงทำวีดิโอบันทึกการสอน เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมาอีก

“ยุคนั้นเราเริ่มทำวีดิโอกันแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักถ่ายการผ่าตัดเป็นหลัก ส่วนวีดิโอที่เป็นบรรยายก็มีบ้าง แต่ว่าไม่ได้ครบชุดอย่างที่อาจารย์ทำ โดยตอนแรกอาจารย์ก็นัดมาทดลอง ดูว่าต้องตั้งกล้องอย่างไร ผูกไมค์ตรงไหน เปิดไมค์แค่นี้พอ ถ้าจะวาดรูปต้องยืนตรงไหน ที่สำคัญเวลาบันทึกเทป ต้องมีนักเรียนด้วย ทำเหมือนห้องเลกเชอร์ทั่วไป”

เมื่อถ่ายทำเสร็จเรียบร้อย ผลงานชุดนี้ก็ถูกกระจายไปยังโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เป็นที่ติดอกติดใจของนักเรียนจำนวนไม่น้อย เนื่องจากอาจารย์ได้นำเทคนิคการสอนตลอด 30 ปีถ่ายทอดลงไปในวีดิโออย่างสมบูรณ์

“เคยมีเรื่องเล่าว่า ช่วงที่อาจารย์ไปคัดสรรแพทย์ดีเด่นในชนบท ระหว่างกินข้าวอยู่ที่ตลาดพิมาย มีคนหนุ่มหน้าตาดีวิ่งเข้ามากราบแล้วบอกว่า อาจารย์จะไปไหน เขายินดีรับใช้ อาจารย์เลยถามว่าเป็นหมอเหรอ จบที่ไหน เขาตอบว่าจบจากพระมงกุฎ เป็นหมอทหาร พอถามว่าจบรุ่นไหน นับไล่ไปปรากฏว่าปีนั้นอาจารย์ไม่ได้ไปสอนที่นั่นแล้ว ก็เลยสงสัยว่ารู้จักได้ยังไง หมอคนนั้นเลยบอกว่า ผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ครับ เรียนจากวีดิโอของอาจารย์”

แม้ปัจจุบันวิชาประสาทกายวิภาคศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามวิทยาการสมัยใหม่ แต่วีดิโอชุดนี้ก็ยังได้รับการแนะนำจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา

“ความจริงก็ไม่ค่อยแนะนำเท่าไรหรอก แต่พอนักเรียนคนไหนเรียนไม่รู้เรื่อง ทุกคนก็จะบอกให้มาดูนี่ก่อน พอดูก็ติดใจ แนะนำกันเรื่อยมา โดยตอนนี้ศิริราชมีวีดิโอแบงก์ ซึ่งเราก็ได้แปลงเทปมาเป็นซีดี 28 แผ่น สามารถเช่าไปทั้งชุดหรือนำแผ่นเปล่ามาให้เจ้าหน้าที่ทำให้ก็ได้” อาจารย์สรรใจอธิบาย

หลังเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2531 อาจารย์ภูเก็ตยังคงเดินทางมาที่ศิริราชอยู่เสมอ รวมทั้งคอยช่วยอาจารย์ที่มาสอนประสาทกายวิภาคศาสตร์แทน ทั้งการเตรียมสอน และตรวจแก้ข้อสอบ

กระทั่งเมื่ออายุ 70 ปี โรคหลอดเลือดสมองก็กลับมาคุกคามอาจารย์อีกครั้ง โดยมีการแตกและตีบตัน ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลายทีละน้อย อาจารย์เริ่มเดินไม่มั่นคง ล้มง่าย พูดไม่ค่อยชัด ต้องรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยโรคระบบประสาท จนอาการทรุดลงตามลำดับ

อาจารย์ทนกับโรคร้ายร่วมสิบปีจึงจากไปอย่างสงบ ทิ้งผลงานที่ทรงคุณค่าไว้มากมาย ทั้งวีดิโอบรรยาย โครงการตำรา-ศิริราช ซึ่งผลิดอกออกผลไปเป็นสำนักพิมพ์ศิริราช พิมพ์ตำราดีสู่สังคมนับไม่ถ้วน รวมถึงลูกศิษย์ลูกหาที่ได้แรงบันดาลใจจากความทุ่มเทของอาจารย์ ล้วนเติบใหญ่เป็นแพทย์และครูแพทย์คุณภาพคอยทำหน้าที่ส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นหลังโดยไม่สิ้นสุด

ภาพและข้อมูลประกอบการเขียน

  • สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 24 ธันวาคม 2562
  • สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 24 ธันวาคม 2562
  • สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 24 ธันวาคม 2562
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์ ม.ว.ม., ป.ช. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ.2550
  • หนังสือภูเก็ต วาจานนท์ 60, 1 ธันวาคม 2530
  • บทความเรื่องโครงการเสริมตำราเรียน สารศิริราช ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2515
  • บทความเรื่องโครงการตำรา-ศิริราช สารศิริราช ปีที่ 29 ฉบับที่ 6 เดือนมิถุนายน 2520
  • บทความเรื่องมรณานุสรณ์: ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์ วารสารเวชบันทึกศิริราช ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2551

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.