“..สวัสดีจ้า ฉันเอง..บุญชู บ้านโข้ง..”
เสียงเหน่อสุพรรณ ของหนุ่มแสนซื่อที่เดินทางเข้ากรุงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยังคงตราตรึงในใจผู้ชมมานานกว่า 3 ทศวรรษ นี่คือผลงานภาพยนตร์ชุดของผู้กำกับมือรางวัล บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ที่ดำเนินเรื่องมายาวนานถึง 10 ภาค ตั้งแต่พระเอกนางเอกยังวัยละอ่อนจนลูกโตจนเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว
ว่ากันว่าเสน่ห์ของ ‘บุญชู ผู้น่ารัก’ ไม่ได้อยู่เพียงการได้คู่ขวัญในตำนาน อย่าง ‘สันติสุข พรหมศิริ-จินตรา สุขพัฒน์’ มารับบทนำ หรือได้กลุ่มนักแสดงวัยรุ่นอารมณ์ดีแห่งยุค เช่น ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ, ซูโม่ตุ๋ย-อรุณ ภาวิไล, ซูโม่เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม, ซูโม่เอ๋-เกรียงไกร อมาตยกุล มาร่วมงาน
แต่มาจากการมุ่งฉายภาพความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนมากกว่าความรักของหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว และเมื่อมาบวกกับมุกตลกคลาสสิก เช่น “อยากรู้จริงๆ หรือเปล่า..เล่ายาวนะ!” หรือ ฉากอลวนให้ชาวแก๊งได้ออกแรงวิ่ง ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกอบอุ่นและผูกพันเสมอที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้
เพื่อรำลึกถึงซีรีส์ภาพยนตร์แห่งความทรงจำ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านกลับไปพบกับแนวคิดเบื้องหลังของผู้กำกับผู้ล่วงลับว่า อะไรที่ทำให้บุญชูกลายเป็นตำนานหนังไทย รวมทั้งชีวิตที่ไม่ธรรมดาที่ทำให้บัณฑิตกลายเป็นนักสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ และอยู่ในใจของแฟนหนังไทยถึงทุกวันนี้
ใครเลยจะรู้บ้างว่า จุดตั้งต้นของบุญชูไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้กำกับ
แต่เพราะภาพยนตร์ก่อนหน้าอย่าง ‘ด้วยเกล้า’ ที่หยิบแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 มานำเสนอ แทบไม่สามารถทำเงินได้เลย แม้จะกวาดรางวัลมาได้มากมาย ทั้งพระสุรัสวดี และสุพรรณหงส์ทองคำ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร เจ้าของไฟว์สตาร์ถึงขั้นเดินมาคุยกับบัณฑิตว่า อยากให้เปลี่ยนแนวมาทำหนังวัยรุ่นแทน
“ผมเป็นคนชนบท หลังบ้านก็ติดนา หน้าบ้านก็ติดคลอง อยู่บ้านนอกมาตั้งแต่เด็ก แล้ววันหนึ่งไฟว์สตาร์จะให้ทำหนังวัยรุ่น ก็นึกไม่ออกว่าวัยรุ่นกรุงเทพฯ เป็นยังไง นึกได้แต่วัยรุ่นต่างจังหวัด คือวัยรุ่นต่างจังหวัดจะเข้ามากวดวิชาในกรุงเทพฯ เพราะว่ายุคนั้นสิ่งที่ขวนขวายกันส่วนใหญ่คือ เรียนให้จบมัธยมปลาย แล้วหาทางเข้ามากวดวิชาในกรุงเทพฯ เพื่อสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่นี่”
บัณฑิตวางคาแรกเตอร์ ‘บุญชู’ ให้เป็นคนสุพรรณ โดยมีเอกลักษณ์สำคัญ คือ ความซื่อ เซ่อ และเหน่อ ตัวละครจึงมีความน่ารัก จริงใจ และเข้าถึงได้ง่าย
หลายคนมักถามบัณฑิตว่า บุญชูมีที่มาจากตัวเขาหรือไม่ ซึ่งผู้กำกับดังก็มักตอบว่า เขาไม่เคยเซ่อเท่าบุญชู และไม่เคยหน้าแตกเท่าบุญชู
แต่พฤติกรรมบางอย่างของบุญชูก็มาจากประสบการณ์ตรงของเขานั่นเอง อย่างสมัยเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ บัณฑิตเคยยืนสั่นอยู่ในตู้โทรศัพท์สาธารณะเพราะไม่รู้จะใช้ยังไง เคยไม่กล้าข้ามถนน เพียงแต่ไม่ถึงขั้นเรียกสามล้อให้พาข้ามฟากแบบที่บุญชูทำ บางมุกก็มาจากคนรอบข้าง เพื่อนสมัยเรียน รวมถึงสิ่งที่จดจำได้สมัยยังเป็นผู้ช่วยกำกับภาพยนตร์ตลก
หากแต่สิ่งซุกซ่อนอยู่หลังความตลก คือการสะท้อนภาพชีวิตและสังคมในยุคนั้น โดยเฉพาะตัวละครทุกตัว ต่างเป็นเสมือนตัวแทนของคนหลายๆ กลุ่มในสังคม เช่น ไวยากรณ์ ตัวแทนของเด็กเรียนที่อยากเป็นหมอ จึงพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่หลายครั้ง แต่สุดท้ายกลับสอบติดเป็นหมอสัตว์แทน, หยอย ลูกอาเสี่ยเจ้าของร้านทองม้วน เสียงดัง ปากเสีย ขี้โวยวาย ใจนักเลง รักเพื่อนฝูง, นรา คนใต้จอมอุดมการณ์, เฉื่อย คนเหนือที่ทำทุกอย่างช้าหมด, คำมูล หนุ่มอีสานนักฝันที่อยากเดินทางไปล่าสมบัติที่อเมริกา หรือแม้แต่บุญช่วย พี่ชายบุญชู ซึ่งต้องการสลัดภาพคนบ้านนอกออกจากตัวเอง
นอกจากนี้ เขายังแอบหยอดข้อคิดดีๆ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย การใช้ชีวิตอย่างไม่หลงระเริงเพราะสุดท้ายอาจต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่า หรือแม้แต่การนำความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ซึ่งนับเป็นเรื่องล้ำสมัยมากในยุคนั้น ที่ผู้คนสนใจแต่จะปักหลักใช้ชีวิตในเมืองกรุง
“จริง ๆ บุญชูจะพูดถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างเพื่อนมากกว่า ความมีน้ำใจต่อมนุษย์ บางคนก็คิดถึงความสำเร็จของตนฝ่ายเดียว แต่บางทีมันก็ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย สิ่งที่บุญชูภาคแรกให้อย่างหนึ่งคือการสะท้อนชีวิตของเด็กบ้านนอกที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพ ที่เป็นเหมือนกันหมด ก็คืออยู่บ้านนอกเรียนเก่ง พอเข้ากรุงเทพฯ สอบตก เพราะอะไร ผู้หญิง แสงสี ความสนุกสนาน เพื่อนฝูง เพราะงั้นบุญชูก็เลยสอบเข้ามหาลัยไม่ได้
“แต่เราไม่ได้ต้องการสื่อว่าเขาเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ เพียงแต่เขาเป็นคนที่พกหัวใจแบบหนึ่งมาอยู่ในสังคมอีกแบบ อย่างภาค 5 ที่เขาเรียนจบ มันก็จะมีเมสเสจบอกถึงคนที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จนแทบไม่มีใครกลับไปทำงานบ้าน เราก็เลยส่งให้บุญชููกลับไปทำนา เพราะเขาเรียนเกษตรมานี่”
บุญชูจึงถือเป็นภาพยนตร์ที่สามารถบาลานซ์ความสนุกและสาระได้อย่างกลมกลืนกัน และกลายเป็นเอกลักษณ์หรือลายเซ็นที่สัมผัสได้ในหนังอีกหลายๆ เรื่องของบัณฑิต
แต่กว่าที่บุญชูจะสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้เช่นนี้ ต้องผ่านการคิดระดมสมองมากมาย โดยเฉพาะการสรรหามุกตลกโชคดีที่บัณฑิตเป็นมนุษย์ช่างสังเกต เวลาพบเห็นหรือได้ยินเรื่องราวอะไรน่าสนใจ เขาก็จะจดใส่สมุดบันทึกเล่มเล็กๆ ซึ่งเปรียบเสมือนคลังข้อมูลส่วนตัวที่นำไปพัฒนาเป็นบทได้
ที่สำคัญก่อนเปิดกล้องบุญชูทุกครั้ง บัณฑิตจะมีพิธีกรรมสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘เจ๊าะมุก’ โดยเรียกทีมงาน นักแสดง หรือคนคุ้นเคย โดยเฉพาะแก๊งซูโม่สำอาง เช่น ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ, ซูโม่เจี๊ยบ-วัชระ ปานเอี่ยม, ซูโม่เอ๋-เกรียงไกร อมาตยกุล, ศุ บุญเลี้ยง หรือ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ (แต่ละภาคไม่เหมือนกัน) มาพูดนั่งคุยกันตามร้านอาหาร หรือบางทีก็นัดไกลถึงรีสอร์ทต่างจังหวัด จากนั้นก็จะแจกบทย่อของหนังให้ทุกคนได้อ่าน แล้วเปิดโอกาสให้ทุกคนสาดไอเดียกันแบบไม่ยั้ง โดยผู้กำกับใหญ่ก็จะจดแก๊กไว้อย่างละเอียด แล้วก็นำไปเขียนเป็นบทที่เกือบสมบูรณ์อีกที (ปล. สาเหตุที่ต้องเรียกว่า เกือบ เพราะจะมีมุกที่ยัดเพิ่มช่วงตอนถ่ายทำอีกนั่นเอง)
ที่สำคัญเขายังมีความสามารถรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยให้กลายเป็นมุกตลกที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา อย่างประโยค “นายนึกว่าเราเป็นใคร” ในบุญชู 2-10 ความจริงมาจากมุกเล็กๆ ในรายการเพชฌฆาตความเครียด ที่แทบไม่มีใครจดจำได้ แต่บัณฑิตสามารถปั้นและหาสถานการณ์แปลกๆ คอยเสียบมุกนี้ จนกลายมุกตลกยอดนิยมที่ยังคงเรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ
จุดเด่นสำคัญของมุกตลกแบบบุญชู คือ มีมุกหลายระดับ เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยทุกฐานะ แถมบัณฑิตยังใส่มุกแบบไม่ยั้ง ไม่เปิดโอกาสให้พักหายใจ เพราะฉะนั้นหากตีตั๋วเข้าไปชมบุญชูรับรองว่าต้องอารมณ์ดีกลับบ้านมาแน่นอน และกลายเป็นหนังยอดนิยมที่ผู้คนต้องยกครอบครัวไปชมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่บุญชูภาคใหม่เข้าโรง
ความจริงแล้วบัณฑิตไม่ได้วางแผนที่จะทำบุญชูหลายภาค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาทำขาดทุนมาหลายเรื่อง และถึงไม่ขาดทุน ก็ไม่เคยทำกำไรถล่มทลาย รวมทั้งยังรู้ตัวเองดีว่า อายุเลยวัยรุ่นมาพอสมควร แต่ผลสุดท้ายกลายเป็นว่า บุญชู ผู้น่ารัก ทำรายได้ไปถึง 14 ล้านบาท ในยุคที่ค่าตั๋วเมืองไทยราคาที่นั่งละ 20 บาท (ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ตั๋วราคา 200 บาท บุญชูก็จะทำรายได้ถึง 140 ล้านบาท)
เมื่อหนังประสบความสำเร็จทางไฟว์สตาร์จึงสนับสนุนให้ทำภาคต่อ บัณฑิตก็ยินดี เพราะเนื้อเรื่องภาคแรกจบที่บุญชูสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ภาคสองจึงทำไม่ยาก โดยเล่าถึงตอนบุญชูเข้ากรุงมาสอบใหม่อีกรอบ ปรากฏว่ารายได้เกินภาคแรกไปอีก และยังกวาดรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในภาคต่อมา โดยเฉพาะภาค 7 ที่รายได้แตะ 32 ล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้หนังชุดนี้ประสบความสำเร็จ บัณฑิตเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า น่าจะเป็นเพราะความตลก การเรียกเสียงหัวเราะ ที่ไปโดนใจวัยรุ่น เพราะสมัยนั้นคนดูหนังกลุ่มใหญ่ที่สุดคือวัยรุ่น พวกเขาชอบออกมาดูหนังที่ได้เจอกับเพื่อนๆ มากกว่าที่จะดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้านกับผู้ปกครอง
หากแต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัย เหตุใดบุญชูตอนที่ 3 จึงใช้ชื่อว่า บุญชู 5 เนื้อหอม เรื่องนี้ วงศ์ตะวัน ชีวิน อดีตผู้ช่วยของบัณฑิต เปิดเผยว่า ในช่วงที่บุญชู 2 ประสบความสำเร็จ ทีมงานก็เครียดไม่น้อย เพราะคิดไม่ออกว่าจะดำเนินเรื่องต่ออย่างไร ขณะที่อยู่ในวงสังสรรค์ เขาก็เลยพึมพำออกมาว่า บ้านนอกซื่อๆ ใสๆ แบบบุญชู น่าจะเนื้อหอมต้องตาสาวชาวกรุงก็คงจะดี พอได้ยินเช่นนั้น บัณฑิตจึงลุกขึ้นจากโต๊ะเหล้าไปจดอะไรตรงเคานท์เตอร์ พร้อมกับนับตัวอักษรไปด้วย ก่อนจะกลับมาบอกว่า บุญชู 3 เนื้อหอม คำมันไม่พ้องเท่าไร จะให้ดีต้องบุญชู 5 เนื้อหอม
คำถามคือจะทำยังไงกับบุญชู 3 กับบุญชู 4 ดี หลังดื่มไปเรื่อยๆ ในที่สุดทุกคนก็ไอเดียใหม่ว่า ให้ภาค 3-4 ไปอยู่ในไตเติลแทนแล้วกัน เท่อย่าบอกใคร ด้วยเหตุนี้ บุญชู 3 จำจากแม่ และ บุญชู 4 ปีหนึ่ง จึงมีความยาวรวมกันแค่ 12 นาที และเป็นส่วนหนึ่งในบุญชู 5 ถือเป็นการแหวกขนบการทำหนังไทยโดยสิ้นเชิง
บัณฑิตทำบุญชูต่อเนื่องมาจนถึงภาค 8 เพื่อเธอ จึงเริ่มรู้สึกอิ่มตัว หมดมุก บวกกับช่วงนั้นเป็นยุคที่หนังไทยกำลังซบเซาพอดี รายได้จึงไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร เขาจึงตัดสินใจพักบุญชูไป และหันไปจับงานละครโทรทัศน์ ก่อนที่สุดท้ายจะกลับมาทำบุญชู 9 ในอีก 13 ปีต่อมา
บัณฑิตไม่ได้เรียบจบภาพยนตร์โดยตรง แต่กลับหลงใหลในศาสตร์นี้อย่างจริงจัง
จุดเริ่มต้นของเขากับหนังเกิดขึ้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ทุกวันพฤหัสบดี โรงเรียนจะจัดกิจกรรมฉายหนังกลางแปลง ส่วนใหญ่จะเป็นหนังฮอลลีวูด โดยหนังที่บัณฑิตชอบมากๆ เป็นหนังคาวบอยของ John Wayne นอกจากนี้ยังมีหนังตลก และหนังสยองขวัญของ Alfred Hitchcock ซึ่งพอยิ่งดูก็ยิ่งซึมซับ ยิ่งชอบมากขึ้นเรื่อยๆ จนฝันว่าสักวันหนึ่งจะมีหนังเป็นของตัวเอง
แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางนี้จะคดเคี้ยวอยู่พอสมควร เพราะหลังเรียนจบเขาก็ไปตั้งบริษัทกับเพื่อน โดยรับหน้าที่เป็นฝ่ายโฆษณา พอบริษัทปิดก็โยกไปอยู่บริษัทเอเจนซี่ ทำหน้าที่ก๊อปปีไรต์เตอร์ ซึ่งก็เป็นโชคดีที่ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าไปตามกองถ่ายต่างๆ เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำ
ต่อมาก็มีคนมาชวนให้ไปทำงานเป็นนักข่าวสายการเมืองอยู่ที่ The Nation ทำได้เพียงปีเดียวก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และต่อมาเขาถูกชวนไปเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ในนามปากกาว่า ‘ทองฝาน’ พร้อมๆ กับย้ายมาทำหน้าที่หัวหน้าข่าวบันเทิงให้หนังสือพิมพ์ชาวไทย และพอปี 2518 ก็ถูกชักชวนให้มาทำงานเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง ‘โบตั๋น’ ซึ่งเป็นหนังร่วมทุนระหว่างไทย-ไต้หวัน เป็นจังหวะเดียวกับชาวไทยปิดตัวพอดี
บัณฑิตเล่าถึงสาเหตุที่ยอมทิ้งงานสื่อว่า ระหว่างความท้าทายในการทำความจริงให้ปรากฏอย่างนักหนังสือพิมพ์ กับการทำความไม่จริงให้ปรากฏอย่างคนทำหนัง เขาชอบแบบหลังกว่ามาก ที่สำคัญคืออาชีพคนทำสื่อยุคนั้น โดยเฉพาะสายการเมืองมักมีเรื่องซองขาวหรือของกำนัลจากผู้มีอำนาจมาข้องเกี่ยว ซึ่งเขาไม่ค่อยชอบเท่าใด แต่ถ้าไม่รับก็คงอยู่ยาก จึงตัดสินใจถอนตัวออกมาดีกว่า
หลังเสร็จสิ้นผลงานเรื่องแรก ‘โบตั๋น’ บัณฑิตกลายเป็นนักเขียนบทมือทอง เขาสามารถเขียนบทได้ทุกแนว โดยเฉพาะหนังบู๊ และยังได้ร่วมงานกับนักสร้างหนังดังๆ หลายคน ทั้งคมน์ อรรฆเดช, ฉลอง ภักดีวิจิตร, ชรินทร์ นันทนาคร และชาลี อินทรวิจิตร ฝากผลงานเด่นๆ มากมาย เช่น ผ่าปืน, เสือภูเขา, จับตาย, ความรักของคุณฉุย, สงครามเพลง, รักแล้วต้องลุย, สวรรค์เบี่ยง ฯลฯ
“งานเขียนบทมีมาเรื่อยๆ บางครั้งผู้กำกับหรือเจ้าของหนังก็ให้เครดิต บางครั้งก็ไม่ให้เครดิตเลยทั้งๆ ที่เขียนแทบเป็นแทบตาย แถมบางทีเอาชื่อคนอื่นมาสวมรอยเสียเฉยๆ หรือบางทีก็เอาชื่อคนอื่นมาขอเอี่ยวด้วย ทั้งที่เขียนเองทั้งหมด .. มีอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อผมอยู่ท้ายไม่มีนามสกุลด้วย เพราะเขาไม่รู้นามสกุล ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนเขียนเกือบทั้งหมด ชื่อที่ส่งเข้าประกวดก็ไม่ใช่ชื่อผม”
เขียนไปได้พักใหญ่ เขาก็เริ่มอยากทดลองงานส่วนอื่นๆ เลยขอผู้กำกับทำหน้าที่ผู้ช่วย
บทบาทนี้บ่มเพาะให้บัณฑิตได้เรียนรู้ทุกองค์ประกอบในกองถ่าย ทั้งจัดแสง ถ่ายทำ ดูแลนักแสดง จัดคิว วางตัวประกอบ ตลอดจนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสามารถนำกลับไปช่วยเวลาเขียนบทได้อย่างดีเยี่ยม เพราะทำให้รู้ว่าฉากแบบใดสามารถถ่ายทำได้จริง คำพูดแบบใดที่ทำให้เรื่องเดินไปข้างหน้า และสื่อสารกับผู้ชมอย่างไร
รับบทพระรองนานถึง 9 ปี ในที่สุดโอกาสก็มาถึง บัณฑิตได้จับงานผู้กำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรก หลังเพื่อนฝูงช่วยกันลงขันผลิตหนังเรื่องแรก ‘คาดเชือก’ ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของวงการมวยคาดเชือก
“ผู้กำกับที่เกิดจากการเป็นผู้ช่วยหรืออยู่ในวงการนานๆ มักจะมีแรงกดดันคือ ความรู้สึกที่ต้องการแสดงออก มันเหมือนกับคนทำงานทุกอาชีพ ถ้าเผื่อเราจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ค่อยมีสิทธิหรือมีสิทธิแต่ไม่ค่อยเต็มที่ เราก็อยากแสดงออก อยากจะทำอะไรที่คิดอยากจะทำ ทุกอย่างจึงอัดอยู่ในหนังเรื่องแรก
“ในความเป็นคาดเชือก ผมผูกพันกับบ้านเกิดของผม บ้านเดิมอยู่อยุธยา มันเป็นแม่น้ำลำคลอง มีเรือ 2 ชั้น เรืออะไรต่อมิอะไร ช่วงที่ทำคาดเชือกก่อนหน้านั้นสัก 4-5 ปี ถนนมันเข้าไปถึงบ้านผม จากที่ไม่เคยเข้าถึง เดิมทุกคนต้องเดินทางโดยทางเรือทั้งหมด เป็นเรือ 2 ชั้น แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วมันกลายเป็นเรือด่วน จนกระทั่งมันมาเป็นรถอีก ความรู้สึกแบบนี้สำหรับคนที่รักบ้านเกิด มันรู้สึกต่อต้าน อยากจะเห็นภาพอดีต ภาพที่เราเคยรู้สึกผูกพันตอนเด็กๆ เอาไว้”
คาดเชือกกลายเป็นหนังดีทุนสูงที่ใช้เงินถึง 3 ล้านบาท ในยุคที่เมืองไทยใช้เงินสร้างหนังเพียงหลักแสน และสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมา 2 ตัว แต่ก็ตามคาด หนังเข้าเนื้อไปสองแสนกว่าบาท อาจเพราะหนังมีเนื้อหาสาระมากเกินไป สำหรับตลาดในยุคนั้น
แต่บัณฑิตก็ยังไม่เคยยอมแพ้ เขาพยายามวิ่งหาเงินมาทำหนังของตัวเอง พร้อมกับรวบรวมเงินที่ได้จากการเขียนบทบ้าง รับจ้างกำกับหนังบ้าง จนสามารถสร้างหนังอีกเรื่องชื่อ ‘คนดีที่บ้านด่าน’ ซึ่งหยิบเรื่องอิทธิพลมืดในสังคมไทยมาตีแผ่ โดยมีประโยคที่แม้แต่กรมตำรวจในเวลานั้นยังนำไปติดหลังโต๊ะของเลขานุการกรม คือ “จะเป็นคนดีที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนดีที่แท้จริง” ปรากฏว่าคราวนี้หนังขาดทุนหนัก 2 ล้านกว่าบาท จนเจ้าหนี้มาตามทวงทุกวัน แถมเขายังซวยหนัก เพราะรถคว่ำต้องนอนซมอยู่โรงพยาบาลอีกหลายเดือน
ภายหลังเขาจึงสอบถาม ชาลี อินทรวิจิตร ผู้กำกับและนักแต่งเพลงที่คุ้นเคยว่า รู้จักเจริญ เอี่ยมพึ่งพร แห่งไฟว์สตาร์หรือไม่ เขาอยากทำงานด้วย ชาลีก็ตอบทันควันว่า “รู้จัก สนิทกันมาก กินเหล้าด้วยกันทุกคืน” พร้อมรับปากจะแนะนำให้รู้จักกับเจริญ จนกลายเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับไฟว์สตาร์
ไฟว์สตาร์ได้เข้ามาช่วยเคลียร์หนี้สินให้ พร้อมกับมอบงานกำกับหนังวัยรุ่นเรื่องแรกให้ นั่นคือ คู่วุ่นวัยหวาน ซึ่งมีจินตรา สุขพัฒน์ และอำพล ลำพูน แสดงนำ แถมยังได้ทีมซูโม่สำอางมาเล่นแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ซึ่งสุดท้ายคนเหล่านี้เองที่กลายเป็นกำลังหลักในการเจ๊าะหนังเรื่องบุญชูให้บัณฑิต
จากคู่วุ่นวัยหวาน มาถึงปัญญาชนก้นครัว บัณฑิตกำกับหนังประสบความสำเร็จเรื่อยมา กระทั่งสะดุดในช่วงที่ทำเรื่อง ด้วยเกล้า ซึ่งตั้งใจทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวาระพระชนมายุครบ 5 รอบ แม้จะขาดทุนมหาศาล แต่นี่ก็ถือเป็นงานหนึ่งที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิต
ก่อนเริ่มถ่ายบัณฑิตต้องหาหนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับในหลวงมาอ่าน เพื่อให้เข้าใจการทรงงานของพระองค์ท่านอย่างละเอียด เพราะส่วนตัวแล้ว เขาเชื่อว่าวิธีบอกรักในหลวงที่ดีสุด คือ การประพฤติปฏิบัติตัวตามรอยในหลวง ด้วยการเป็นคนเสียสละ มีเมตตาอดทน
แต่ก็ด้วยปัญหาเดิม แม้ทุกคนจะบอกว่าเป็นหนังดี แถมมีรางวัลรับประกันอีกเพียบ แต่คนคงกลัวว่าดูแล้วจะเครียด ก็เลยไม่ยอมตีตั๋วเข้ามาดู จนหนังขาดทุนมหาศาล เป็นเหตุให้เขาต้องหันมาสร้างตำนานบทใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังบุญชูที่ทุกคนคุ้นเคย
หากแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ เพราะบัณฑิตไม่อยากหยุดชีวิตตัวเองไว้ที่บุญชู เขาจึงพยายามสร้างหนังใหม่ๆ ที่ท้าทายตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จ แต่มีอีกไม่น้อยที่ขาดทุน เช่น กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้
“ไม่รู้ทำไม พอผมทำหนังสาระถึงไม่เคยได้เงินเลย จุดตกอับของผมจึงคล้ายๆ หลายคน คือสังคมจะมองว่าคนที่หาทรัพย์ได้เยอะเป็นคนที่น่าคบหา แต่พอผมทำหนังไม่ได้เงินหลายๆ เรื่องเข้าจึงคุยกับใครลำบากขึ้น ถ้าจะวัดง่ายๆ คือ ช่วงไหนที่มีหมายศาลมาแปะหน้าบ้าน แปลว่าบัณฑิตตกอับ ผมได้รับหมายศาลจนชิน บางครั้งก็ไม่ต้องแปะหน้าประตู เพราะเต็มใจเซ็นรับเอง แต่ผมจะไม่ถึงกับตกอับสุดๆ แม้จะล้มเหลว แต่เพื่อนฝูงและผู้ใหญ่ยังให้ความช่วยเหลือเกื้อหนุน
“ความลำบากในชีวิตเวลาที่ตกอับคือ ต้องหาเงินใช้หนี้ วิ่งแลกเช็คหัวหมุน แต่ไม่เคยคิดสั้น.. บางคนเข้าใจผิด เห็นเขาเรียกผู้กำกับร้อยล้านพันล้านก็คิดว่าคงจะรวยตามนั้นจริงๆ เปล่าเลย เงินจากหนังเป็นของผู้สร้างกับทางโรงหนัง ส่วนผมได้ค่าจ้างกำกับปีละ 200,000 หารออกมาเหลือเดือนละหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง”
แต่ถึงอย่างไร บัณฑิตก็ไม่เคยหยุดความคิดที่จะสร้างหนัง เพราะนี่คือทางชีวิตที่เขาได้เลือกแล้ว
‘ผู้กำกับเม็ดทราย’ เป็นฉายาหนึ่งที่ทีมงานขนานนามให้ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
เพราะนอกจากความมุ่งมั่นและทำงานอย่างจริงจัง เขายังมีความจำเป็นเลิศแถมยังใส่ใจทุกรายละเอียดอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ปากกาแท่งเดียวที่เหน็บอยู่บนเสื้อเขาก็ยังจำได้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขารับหน้าที่ทั้งเขียนบท กำกับ และตัดต่อด้วยตัวเอง ทุกอย่างจึงเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ในหัวแล้ว แม้บางครั้งจะไม่ได้ถ่ายเรียงคิวก็ตาม ปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของหนังจึงแทบไม่เคยเกิดขึ้นในกองถ่าย และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นจริงๆ แม้เพียงคัทเดียว ต่อให้ปิดกล้องไปแล้ว บัณฑิตก็ไม่ลังเลที่จะถ่ายซ่อม เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด
เรื่องตัดต่อก็เหมือนกัน บัณฑิตเป็นคนที่ใช้เวลาตัดต่อหนังนานมาก เพราะต้องเล็มชนิดเฟรมต่อเฟรม ไม่ให้พลาดแม้แต่เฟรมเดียว จนหลายคนอดสงสัยว่าต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ เพราะเวลาเพียง 1/24 วินาทีก็คงไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก แต่เขาก็อธิบายว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับจังหวะและอารมณ์ หากไม่ใส่ใจ หรือรีเพลย์ดูหลายๆ เที่ยว บางทีหนังก็อาจจะขาดความสมูทไป
แน่นอนเขาไม่เคยลืมว่าตัวเองถ่ายทำอะไรมาบ้าง หากเทคไหนหายเขาจะรู้ทันที ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันตามหาให้เจอ โดยบางทีก็ไปตกหล่นอยู่ตามเศษฟิล์มบ้าง หรือต้นฟิล์มม้วนใหม่บ้าง ซึ่งน่าแปลกว่าเทคที่หายส่วนใหญ่มักเป็นเทปที่เขาต้องการเอามาใช้งานนั่นเอง
แต่ถึงการร่วมงานกับบัณฑิตจะยุ่งยาก และละเอียดลออเพียงใด แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยินดีและเต็มใจ เพราะรู้ซึ้งในน้ำใจและมิตรภาพที่เขามอบให้กับผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี ด้วยความเป็นคนใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เขาจึงพยายามดูแลทุกคนอย่างดีที่สุด ทั้งอาหารกินกิน ที่พัก ต้องสะดวกสบาย
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตพยายามทำหนังใหม่ให้ได้ทุกปี แม้ในยุคหลังสุขภาพจะไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก เพราะเขารู้ตัวว่า หากตัวเองหยุด คนที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งครอบครัว ทั้งทีมงานจะลำบากตามไปด้วย เหมือนครั้งหนึ่งที่บัณฑิตตัดสินใจเบนเข็มเข้าไปทำละครโทรทัศน์ แม้ไม่ใช่งานที่ถนัดเลยก็ตาม
ที่สำคัญเขาเป็นคนให้โอกาสคน มีอะไรก็พยายามสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่ ไม่เคยหวงวิชา นักแสดงฝีมือเยี่ยมหลายคนเกิดขึ้นได้ ก็มีจุดเริ่มต้นจากหนังของบัณฑิต เช่น จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, แอน ทองประสม, โดม-ปกรณ์ ลัม หรือ สายธาร นิยมการณ์ รวมทั้งรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนให้นิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน โดยไม่เคยปฏิเสธเลยเพราะสำหรับบัณฑิตแล้ว การสร้างคนรุ่นใหม่ก็เป็นภารกิจอีกอย่างของนักสร้างภาพยนตร์
จริง ๆ บุญชูจะพูดถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างเพื่อนมากกว่า ความมีน้ำใจต่อมนุษย์ บางคนก็คิดถึงความสำเร็จของตนฝ่ายเดียว แต่บางทีมันก็ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย
หนึ่งในความฝันที่ไม่สำเร็จของบัณฑิตคือ ‘บุญชู 10’ ซึ่งตั้งใจให้เป็นหนังปิดตำนานมหากาพย์ที่ดำเนินมากว่าสองทศวรรษ
ย้อนกลับไป ก่อนหน้านั้น 1-2 ปี บัณฑิตได้รับการติดต่อจากไฟว์สตาร์ ถึงโครงการครบรอบ 20 ปี ‘หนังบุญชู’ ซึ่งตอนแรกก็มีความคิดหลากหลาย ทั้งฉบับใหม่เลย หรือทำภาคต่อดี กระทั่งได้ข้อสรุปว่า ทำภาค 9 ดีกว่า
บุญชู 9 หรือ บุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู หยิบเนื้อหารุ่นลูกของบุญชูมาเล่า ‘บุญโชค’ ก็ไม่ต่างจากบุญชู เขาเป็นคนใสซื่อบริสุทธิ์ เพราะใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพักตร์มาตั้งแต่ยังเด็ก
แม้วิธีการทำงานของบุญชูภาคนี้จะไม่ต่างจากแต่ก่อนที่มีการเจ๊าะมุกแบบเต็มที่ หากแต่สถานการณ์โดยรวมกลับหนักหนากว่าเดิมพอสมควร หนึ่งคืองบประมาณที่จำกัดมาก สองคือคิวนักแสดงที่แทบไม่ลงตัว ทำให้ต้องรีบถ่ายกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ
แต่ที่หนักสุด คือสุขภาพของบัณฑิต เพราะนอกจากอาการโรคหัวใจที่เป็นมานานหลายสิบปี เมื่อปี 2547 เขาเกิดอาการช็อกจนหมดสติจนถูกหามส่งโรงพยาบาล ซึ่งจากการตรวจพบว่ามีอาการน้ำท่วมปอด โรคนิวโมเนีย รวมทั้งไตทำงานไม่ปกติอีกด้วย
ผลจากการตรวจครั้งนั้น ทำให้บัณฑิตต้องเจาะรูที่ท้องเพื่อต่อท่อสำหรับล้างน้ำยาทางหน้าท้อง รวมทั้งต้องถอนตัวจากโปรเจกต์ ‘สะกดรอยชู้’ ซึ่งเป็นหนังร่วมทุนระหว่างไฟว์สตาร์กับจีทีเอช
หลังพักรักษาตัวจนดีขึ้น บัณฑิตมีผลงานตามมาอีก 2-3 เรื่อง เช่น อนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง และมาหานคร หนังสั้นในยุคสวัสดีบางกอกของ Thai PBS รวมทั้งวางแผนผลักดันโครงการที่ใฝ่ฝันมานาน อย่างโรงเรียนกลางป่า ผลงานเขียนของ อ.ชาตรี อนุเธียร ซึ่งเขาตั้งใจทำเป็นหนังเพื่อรำลึกถึงโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เพียงแต่ไม่มีนายทุนรายใดให้ทุนมาทำ
และสุดท้ายคือ บุญชู 10 ซึ่งเดิมทีมีแผนเปิดกล้องช่วงเดือนธันวาคม 2552 โดยบัณฑิตได้เดินทางขึ้นเหนือไปเชียงรายไปสำรวจสถานที่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงไว้แล้ว ตลอดจนมีการเรียกประชุมเพื่อเจ๊าะมุกจนเสร็จเรียบร้อย เสียแต่ว่าบัณฑิตไม่มีแรงพอที่จะเขียนหรือพิมพ์บทออกมา เพราะเขาปวดขามาก และแม้ลูกสาวจะขอพิมพ์แทน เขาก็ได้ส่ายหน้าพร้อมบอกว่า “พ่อไม่สามารถบอกได้ พ่อต้องพิมพ์เองเท่านั้น”
ช่วงที่บัณฑิตต้องเข้าโรงพยาบาล ทุกครั้งที่ผ่านหน้าปฏิทิน เขาจะต้องเอานิ้วไล่ตามวันที่เสมอ แม้ไม่เคยปริปาก แต่ทุกคนก็รู้ว่าเขากลัวว่าหนังจะถ่ายไม่ทันตามกำหนด
แน่นอนว่าสุดท้าย บัณฑิตก็ไม่เคยได้ร่วมกองถ่ายบุญชู 10 เพราะเขาจากไปก่อนในวันที่ 1 ตุลาคม 2552
หากแต่ยังโชคดีที่บรรดาแก๊งบุญชู ซึ่งร่วมหัวจมท้ายกับบัณฑิตมาตั้งแต่ต้น ยังรับภารกิจสานฝันครั้งนี้ต่อจนสำเร็จ พร้อมปิดตำนาน ‘บุญชู The Series’ ลงอย่างสมบูรณ์
ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน ผู้สร้างตัวละครที่คนไทยรักและจดจำมากที่สุด
พูดคุยกับ 6 ผู้กำกับเรื่อง แฟนฉัน หนังไทยที่สร้างปรากฏการณ์ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนในวงการภาพยนตร์
โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์หญิง ผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนหนังไทย ยุค 2000 ไปสู่นานาชาติ
พระเอกยอดนักบู๊ ผู้ตามหาฝันจากเด็กเลี้ยงช้าง สู่นักแสดงระดับโลก
พูดคุยกับทีมเขียนบท SuckSeed ห่วยขั้นเทพ หนังไทยที่จุดกระแสดนตรีไปทั่วโรงเรียนมัธยม
เรื่องราวของ House โรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังทางเลือกเป็นหลัก เพื่อเพิ่มการรับชมหนังของคนไทยให้หลากหลายยิ่งขึ้น
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.