“..ฝันแล้วก็อยากจะฝันอีก อยากชวนเธอ ไปเดินอยู่ในความฝัน แล้วพากันไป คิดแล้วก็หยิบเอาเสื้อใหม่ ใส่ที่ตัวสวยไป แล้วก็ออกไปเดินเฉย ฝอยกันให้ฟุ้ง”
เชื่อว่าหลายคน คงจำภาพเด็กหญิงจอมป่วน มารุโกะ วัย 9 ขวบ กับเพลง ‘เก็บฝัน’ นี้เป็นอย่างดี
เพราะนี่คือหนึ่งในการ์ตูนยอดฮิตที่ตราตรึงเด็กๆ ชาวไทยมานานนับสิบปี ตีคู่มากับเด็กชายชินจัง จอมแก่น เลยทีเดียว
หากแต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 อาจารย์ Sakura Momoko ผู้วาดการ์ตูนได้จากไปอย่างสงบ ด้วยโรคมะเร็งเต้านม ในวัย 53 ปี
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอใช้โอกาสนี้รำลึกถึงนักวาดที่ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างตำนานการ์ตูนที่อยู่คู่ญี่ปุ่นและโลกมากว่า 30 ปี
Sakura Momoko หรือชื่อจริงว่า Miki Miura เกิดที่เขต Shimizu-ku ในจังหวัด ชิชูโอกะ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2508 เธอชอบเขียนเรียงความและวาดภาพประกอบมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ก้าวไปสู่แวดวงนักเขียนการ์ตูน โดยผลงานเปิดตัวเกิดขึ้นเมื่ออายุ 19 ปี ชื่อเรื่อง Oshiete yarerunda arigataku omoe! ตีพิมพ์ในนิตยสาร Ribon Original
หากแต่ผลงานที่ขึ้นหิ้งกลับเป็นหมายเลข 2 อย่าง Chibi Maruko-chan
มารุโกะเป็นตัวละครที่ซากุระได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตวัยเยาว์ของตัวเอง
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ชื่อจริงของมารุโกะ คือ Sakura Momoko นามปากกาของผู้เขียนนั่นเอง เช่นเดียวกับประวัติความเป็นมาของตัวละคร ทั้งปูมหลัง ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่เหตุการณ์บางอย่างก็จำลองมาจากเรื่องส่วนตัวเกือบทั้งสิ้น
ซากุระวาดการ์ตูนเรื่องนี้ตั้งแต่เรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย ในรูปแบบ Comic Essay ซึ่งเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับประสบการณ์ ความทรงจำในอดีต ดังนั้นเหตุการณ์หรือแฟชั่นทั้งหมดของตัวละครต่างๆ จึงอยู่ในยุค 1970 หรือปลายสมัยโชวะ
แต่ถึงจะเขียนมาได้พักใหญ่ ทว่าต้นสังกัดกลับไม่ยอมตีพิมพ์เสียที กระทั่งเวลาผ่านมา 1 ปี สาวน้อยมารุโกะถึงอวดความน่ารักต่อสายตาสาธารณชน
คงด้วยเนื้อเรื่องที่เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน เสมือนการย้อนเวลาสู่อดีต จึงทำให้เด็กหญิง ป.3 จอมขี้เกียจและแสนเชื่องช้าผู้นี้ กลายเป็นขวัญใจของผู้คนได้ไม่ยาก แถมยังทำให้ซากุระคว้ารางวัล Kodansha Manga Award Girls มาครองอีกด้วย
จากความสำเร็จครั้งนี้ Fuji TV จึงทาบทามนักเขียนหญิงให้ต่อยอดมังงะไปสู่จอโทรทัศน์ ซึ่งเธอก็ไม่ปฏิเสธ โดยอะนิเมะออกอากาศทุกเย็นวันอาทิตย์ เริ่มตอนแรก เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533
เพียงปีที่ 2 มารุโกะก็สร้างสถิติใหม่ กลายเป็นการ์ตูนที่มีสถิติผู้ชมในเขตคันไซสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 39.9%
หากวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จนี้ ส่วนสำคัญมาจากการที่มารุโกะเชื่อมโยงกับผู้คนในสังคม
ครอบครัวของมารุโกะประกอบด้วยคน 3 รุ่น คือปู่ย่า พ่อแม่ พี่สาวและตัวมารุโกะเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีพฤติกรรมและทัศนคติที่ไม่ต่างจากคนในสังคมญี่ปุ่นเลย อย่างแม่ซึ่งใช้ชีวิตด้วยการทำงานหนักในครัว แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นคุณค่าเท่าใดนัก ขณะที่พ่อใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอยู่หน้าโทรทัศน์และดื่มเบียร์หรือชา ทำให้ผู้ชมไม่ได้รู้สึกว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไกลตัวนัก บวกกับอารมณ์ขันและทักษะการเขียนเรื่องที่เสพง่ายของซากุระ ส่งผลให้มารุโกะฮิตติดลมบน แม้ออกอากาศมามากกว่า 1,200 ตอนแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ตัวละครมารุโกะ ครอบครัวและผองเพื่อน ยังถูกพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ วีดิโอเกม รวมทั้งยังถูกนำไปใช้เป็นภาพประกอบของที่ระลึก รถไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นการ์ตูนเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้นี้มีอิทธิพลต่อสังคมญี่ปุ่นเพียงใด
อย่างไรก็ดี งานของซากุระไม่ได้มีเพียงแค่นี้ หลังมารุโกะหยุดตีพิมพ์ฉบับมังงะ เมื่อปี 2539 เธอเขียนการ์ตูนใหม่ๆ ออกมาหลายเรื่อง อาทิการ์ตูนแฟนตาซีเรื่อง Coji-Coji ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายประเภท ทั้งเพลง ความเรียง บทกวี งานแปล หรือแม้แต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า
หากแต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว อาจไม่มีงานใดเทียบกับผลงานคลาสสิกอย่างมารุโกะได้เลย
ซากุระเคยเปิดใจเมื่อครั้งที่มารุโกะครบรอบ 25 ปีว่า ตอนที่อะนิเมะเริ่มออกอากาศ เธอไม่คิดว่ารายการนี้จะอยู่ได้ยืนนานเช่นนี้ ซึ่งต้องขอบคุณบรรดาแฟนคลับและคนอื่นๆ ที่ยังคงสนับสนุนการ์ตูนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ช่วง 10 ปีแรกที่มังงะและอนิเมะเผยแพร่ เป็นช่วงที่รู้สึกเธอสนุกมาก โดยเฉพาะการเขียนสคริปต์ของอนิเมะ เพราะเธอมีโอกาสได้เขียนสิ่งที่ทำในมังงะไม่ได เช่นดนตรีประกอบ หรือฉากอนิเมะต่างๆ แต่การทำสองอย่างพร้อมกันถือเป็นเรื่องหนักมาก ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทีมงานที่ช่วยทำให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ และช่วยทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
แม้วันนี้ซากุระจะจากไปแล้ว แต่ก็เชื่อว่า ความทรงจำของผู้คนที่มีต่อผลงานชิ้นนี้จะยังคงอยู่ตราบนานแสนนาน เพราะบางทีสำหรับเธอการ์ตูนเรื่องนี้อาจไม่ใช่เพียงเครื่องยืนยันความสำเร็จในวิชาชีพเท่านั้น หากแต่เป็นความภาคภูมิใจของชีวิตที่ได้ส่งต่อความสุขไปยังผู้ชมมากมายทั่วโลกก็เป็นได้
ย้อนเรื่องราวตำนานความฮาฉบับกระเป๋าของเมืองไทย ‘ขายหัวเราะ’ ผ่านปากคำของ บ.ก.วิติ๊ด และครอบครัว
นักเขียนการ์ตูนที่พาผลงานมังงะจากเอเชียให้โด่งดังไปไกลทั่วโลก ปลุกกระแสดราก้อนบอล ให้เข้าอยู่ในใจเด็กๆ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
เรื่องราวของเจ้าขุนทอง รายการโทรทัศน์ขวัญใจเด็กที่อยู่ในความทรงจำของทุกคนมานานกว่า 30 ปี
Dek-D.com เว็บไซต์ยอดนิยมเด็กไทย ซึ่งเกิดจากไอเดียของเด็กมัธยม 4 คน และกลายเป็นทั้งที่พึ่ง ที่สร้างสรรค์ ที่ปล่อยของ และอื่นๆ อีกมากมาย
ย้อนเรื่องราวของนักสร้างสรรค์หญิงจากออสเตรเลีย ผู้ริเริ่มตัวละคร ‘กล้วยหอมจอมซน’ ซึ่งกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลก
รายการโทรทัศน์ที่มีแฟนคลับติดตามมานานกว่า 40 ปี และเป็นต้นแบบสำคัญของรายการเด็ก และวงดนตรี XYZ
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.