พ่อเป็นฮีโร่ของคุณไหม?
บางคนตอบอย่างเร็วว่า ‘ใช่’ แต่สำหรับหลายๆ คน นี่อาจเป็นคำถามที่ตอบยาก
เหมือนกับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เขาอาจใช้เวลาไม่นานเพื่อตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพช่างภาพสัตว์ป่า แต่กลับใช้เวลานานนับสิบปี เพื่อตกผลึกความหมายต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับ ม.ร.ว.ปรัชญากร วรวรรณ ผู้เป็นพ่อ
หลายคนอาจมองว่า นี่คือเรื่องปกติของคำว่า ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเผชิญทั้งสิ้น แต่หากมองว่าลึกลงไป บางทีนี่อาจคือคุณค่าที่ซ่อนตัวอยู่ระหว่างบรรทัดของความสัมพันธ์ต่างๆ ก็เป็นได้
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกท่านเดินทางไปพบกับช่างภาพสัตว์ป่าผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมาย.. เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่บ่มเพาะให้เขาเป็นเขาในวันนี้
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ม.ล.ปริญญากรนั่งอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์ คาดเข็มขัดนิรภัยแน่นหนา ข้างกายมีสายตาของผู้เป็นพ่อเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด
บนถนนสาย 108 จากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งตรงไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นที่รับรู้กันดีว่าเต็มไปด้วยเส้นทางคดโค้งมากมาย การที่พ่อให้เขาเป็นคนขับ ย่อมหมายความถึงความเชื่อใจว่าเขาโตพอที่จะรับผิดชอบชีวิตได้แล้ว
“ระวัง อย่าให้เลยเส้นเหลือง” พ่อย้ำประโยคนี้เสมอ
แต่ถึงจะพูดอย่างไรก็ยังมีจังหวะที่เด็กหนุ่มขับล้ำเส้นเหลืองออกไป
“แกตายแล้วล่ะ” พ่อพูดขึ้นมาทันที
ตั้งแต่นั้นมาคำพูดว่า “อย่าเลยเส้นเหลือง” ก็กลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นในใจ
“จนกระทั่งบัดนี้ผมเป็นคนที่ขับรถถูกกฎจราจรมาก กฎจราจรเป็นกฎง่ายที่สุด มันไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เป็นการเคารพเพื่อนร่วมทาง เคารพสิทธิคนอื่น ไม่ต้องไปพูดถึงว่าคุณจะเคารพอย่างอื่น การที่คุณจะมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ แค่บนถนนคุณยังไม่ทำเลย แล้วเรื่องอื่นคุณจะทำเหรอ ไม่มีทาง..
“จริงๆ แล้วการเคารพกันเป็นเรื่องสำคัญนะ ผมมักตัดสินคนจากการขับรถ มันบอกทุกอย่างเลย บางทีผมรู้จักคนบางคนแล้วนั่งรถเขา เขาทำทุกอย่างที่ไม่ถูกกฎจราจรก็จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเขา แล้วเรื่องอื่นจะเป็นยังไงนะ”
‘เส้นเหลือง’ จึงเปรียบเสมือนกฎของการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นสัญลักษณ์ของการเคารพซึ่งกันและกัน ที่ไม่ได้ถูกตีเส้นไว้บนถนนเท่านั้น แต่ปรากฏในทุกที่ ทั้งบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งป่า
ในฐานะของช่างภาพสัตว์ ม.ล.ปริญญากร ต้องเข้าไปทำงานในป่า แม้ว่าจะเคารพกฎแห่งการอยู่ร่วมกันเพียงใด แต่ก็เคยมีครั้งที่เขาพลาด และบทลงโทษนั้นรุนแรงเกือบถึงแก่ชีวิต
“ผมเคยเข้าไปใกล้เสือตัวหนึ่งเกินไป มันก็กระโจนเข้ามา อันนั้นเรียกว่าเป็น ‘การล้ำเส้นเหลือง’ เพราะมันร้องขู่เตือนแล้ว ผมก็ไม่ฟังเลยโดนสั่งสอน”
เสือตัวนั้นกระโจนคร่อมเขา ใช้ตีนตบหน้า โชคดีที่เขามีสติรีบคว้าเลนส์ยาวยัดเข้าไปในปากก่อนที่มันจะลงเขี้ยว พอดีกับมีคนตะโกนไล่มันจึงหนีไป ห้วงเวลานั้นเขาอาจนึกถึงคำพูดของพ่อที่ว่า “แกตายแล้วล่ะ” บ้างก็เป็นได้
“เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่า เราต้องเคารพเส้นเหลืองนี้มากขึ้น แต่บางทีเราก็พลาดเพราะไม่รู้ว่าเส้นเหลืองอยู่ตรงไหน คนเรามักพลาดกันเสมอๆ แต่ถ้าพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมว่ามันก็ควรจะต้องพิจารณาตัวเอง”
“จริงๆ ผมกับพ่อแทบจะไม่สนิทกันเลย ไม่ได้คุยกันแบบพ่อลูกในหนังหรือพ่อลูกสมัยนี้”
คงไม่ผิดหากกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของ ม.ล.ปริญญากร กับ นักเขียนรุ่นใหญ่เจ้าของนามปากกา ‘โจม่า กระเวีย’ เหมือนมีเส้นเหลืองกั้นแบ่งไว้
เขาเติบโตขึ้นในไร่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่พ่อเป็นคนถางป่าบุกเบิกตั้งแต่ต้น
ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยที่ราชนิกุลหนุ่ม ผู้มีชีวิตที่สดใส สามารถเลือกหนทางสบายๆ จะไปเมืองนอก หรือทำงานรับเงินเดือนแพงๆ จะยอมมาอยู่บ้านนอก เป็นเกษตรกรเต็มขั้น หาบน้ำ รดผัก ถางหญ้า เลี้ยงสัตว์ เพราะความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะเปลี่ยนผืนดินที่รกร้างให้กลายเป็นแผ่นดินสีทอง
ความฝันของคุณชายโจม่านี้ บางทีอาจได้รับอิทธิพลมาจากหนังคาวบอยตะวันตกยุคบุกเบิกก็เป็นได้ เพราะแม้แต่ชื่อ ‘เชน’ ของลูกชายก็ยังมาจากชื่อพระเอกหนังเหล่านั้น
เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูกที่เขาแทบจะไม่ได้ประคบประหงม ม.ล.ปริญญากรถูกแยกห้องให้นอนคนเดียวนั้นแต่เด็ก คำพูดที่ว่า “ต้องไม่กลัว” ถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ แต่น่าแปลกที่ความรู้สึกของลูกชายคนนี้ที่มีต่อพ่อกลับคือ ‘ความกลัว’
ภาพจำของพ่อตอนนั้น คือชายคนหนึ่งที่เกรี้ยวกราดใส่คนงานที่ทำไม่ได้ดังใจ ขับรถจิ๊บเข้าป่าไปยิงสัตว์ พ่อเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ กล้าหาญ เข้มแข็งแบบที่เขาตั้งใจจะเป็นให้ได้
“พ่อพาผมเข้าไปด้วย ไปแล้วก็เห็นกวางโดนยิง เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ตอนนั้นก็เคยคิดนะว่า ลูกผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ต้องกินเหล้า ต้องยิงสัตว์ ต้องอะไรแบบนี้ รู้สึกว่าเราแหย เพราะเราไม่กล้าไปยิงสัตว์ แต่พอโตขึ้นเราถึงรู้สึกว่า ไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้”
หลังเรียนจบปศุสัตว์ที่เดนมาร์ก แล้วกลับมาทำงานที่โรงงานเหล็กเคลือบดีบุก เพื่อผลิตกระป๋อง แต่เขาพบว่าไม่ค่อยมีความสุขกับการตอกบัตรเข้าออก ทำงานให้จบไปแต่ละวัน จนวันหนึ่งได้ไปร่วมทีมกับชมรมดูนกกรุงเทพของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งพ่อของเขาก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย จึงค้นพบกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ
เขาเริ่มใช้วันหยุดเดินทางเข้าป่า ไปดูนกและต่อยอดไปสู่สัตว์ประเภทอื่นๆ ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และหันเหไปสู่การเป็นช่างภาพสัตว์ป่าเต็มตัว
“ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครถ่ายภาพนกอย่างเอาจริงเอาจัง ผมตัดสินใจซื้อเลนส์ยาว ตัวแรกเป็นเลนส์ 400 มันก็เริ่มเป็นจริงเป็นจังขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าในตอนนั้นเรื่องดูนกเราไม่น่าจะเป็นรองใคร คือเรารู้มากพอที่จะเขียนหนังสือหาเงินได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องกลับมาทำงานให้ทันเช้าวันจันทร์ ก็เลยตัดสินใจออกจากงานเลย เพื่อจะได้มีเวลาไปดูนกทั่วประเทศ” ม.ล.ปริญญากรเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสารสารคดี
แม้สุดท้ายเขาจะไม่ได้เป็นผู้ชายในแบบเดียวกับพ่อ แต่สิ่งที่คนทั้งคู่มีเหมือนกัน คือการยืนหยัดในการเป็นตัวของตัวเอง
“พ่อสอนความยืนยันในความเป็นตัวตนอยากทำอะไรก็ทำ ทำในสิ่งที่เป็นความฝัน อย่างการทำไร่ที่ปากช่อง พ่อก็ต้องเริ่มจากการขุดดิน ขุดแปลงผัก หาบน้ำจากในคลองขึ้นมารดผัก ไม่ได้เริ่มจากเศรษฐี อันนี้ก็สอนให้ผมรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องพร้อมหรอก ถ้าเราจะมีความฝันอะไรก็เริ่มทำเลย สิ่งสำคัญคือต้องทำ”
ม.ล.ปริญญากรก็เหมือนผู้ชายส่วนใหญ่ที่สมัยเด็กเคยมีพ่อเป็นฮีโร่ แต่พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ก็เริ่มค้นหาตัวตนของตัวเอง และพยายามจะก้าวออกไปให้พ้นจากเงาของพ่อ
ความฝันของเขาคือการอยู่ในไร่ เลี้ยงวัว อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เขาตัดสินใจเลือกเรียนสัตวบาล ด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่า กลับมาจะสร้างฟาร์มของตัวเอง
แต่เมื่อกลับมาแล้ว สิ่งที่รออยู่คือความขัดแย้ง
พ่อไม่เห็นด้วยกับความฝันนี้เลย เพราะความเป็นห่วงบวกกับเคยมีประสบการณ์ล้มเหลวมาก่อน
แต่เด็กหนุ่มกลับคิดตรงข้าม นึกว่ากำลังถูกสบประมาทว่าไม่มีปัญญา จึงพิสูจน์ตัวเอง โดยหันหน้าสู่งานประจำด้วยความหวังที่จะเก็บเงินสักก้อนเพื่อซื้อฟาร์ม หลังใช้ชีวิตพนักงานอยู่ 4 ปีเต็ม ก็เริ่มตระหนักว่าบางทีคงไม่เหมาะที่อยู่ในกรอบที่บีบรัดมากๆ ซึ่งอาจรวมถึงการทำฟาร์มด้วย
“ไม่มีพ่อคนไหนไม่รักลูกหรอก.. วันนี้ผมก็รู้สึกดีมากที่พ่อได้บอก เพราะถ้าเราทำฟาร์มต้องรีดนม 2 เวลาต่อวัน ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 ไปไหนก็ไม่ได้ เนื่องจากต้องรีดนมทุกวัน นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมไม่ได้ทำฟาร์ม”
หลังตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตใหม่ในฐานะช่างภาพสัตว์ป่า ไม่มีเสียงคัดค้านจากพ่ออีกแล้ว หากแต่เขายังสัมผัสได้ถึงความเป็นห่วง เพราะอาชีพแบบนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องรายได้และการใช้ชีวิต
“ผมไม่คิดว่าอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ผมคิดว่าผมจะเลือกใช้ชีวิตอย่างนี้ ถ้าได้ดีที่สุดก็คงจะไปได้ มันอาจจะไม่รวย แต่คงไม่อดตาย แล้วตอนที่ลาออกจากงานผมไม่ได้ปรึกษาใครเลย”
โชคดีที่เวลานั้นเป็นจังหวะเดียวกับเรื่องในป่ากำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เมื่อปี 2533 ทุกคนต่างต้องการภาพสัตว์ป่า เพื่อทำปฏิทิน ทำหนังสือ ส่งผลให้ช่วงนั้น ม.ล.ปริญญากรมีผลงานออกมาเยอะมาก ตามหน้านิตยสารต่างๆ ทั้ง แคมปิ้งท่องเที่ยว อนุสาร อสท. ดิฉัน ขวัญเรือน บางเดือนเขาสามารถเขียนงานได้ถึง 20 ชิ้น
“ผมเชื่อว่าพ่อรักผมมาก แต่เขาไม่เคยบอกผม ในงานสวดศพพ่อ มีอาคนหนึ่งซึ่งก็คือเพื่อนของเขามาพูดกับผมว่า พ่อพูดถึงผมตลอด พูดถึงงานของผมบางชิ้น พ่อภูมิใจในตัวคุณมากเลยนะ ผมบอกอาว่า พ่อไม่เคยพูดกับผมแบบนี้ อาบอกนั่นแหละวิธีของเขา”
ผมเชื่อว่าพ่อรักผมมาก แต่เขาไม่เคยบอกผม ในงานสวดศพพ่อ มีอาคนหนึ่งซึ่งก็คือเพื่อนของเขามาพูดกับผมว่า พ่อพูดถึงผมตลอด พูดถึงงานของผมบางชิ้น พ่อภูมิใจในตัวคุณมากเลยนะ
ในวันที่พ่อเขาจากไป ม.ล.ปริญญากร ยังทำงานอยู่ในป่า
เขาทราบข่าวจากวิทยุสื่อสาร จึงรีบขับรถกลับ แต่เผอิญชนกับพุ่มไม้ที่มีไม้ไผ่ซ่อนอยู่ กระจกรถแตก ต้องเสียเวลาเปลี่ยนอีก 3-4 ชั่วโมง ถึงกลับมาเจอพ่อได้..
ในสายตาคนทั่วไปอาจมองว่าเขาไม่ดูแลพ่อ แต่สำหรับตัวเองแล้วบางทีนี่อาจจะเป็นวิถีที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ต้นก็เป็นได้
“หากถามว่าเสียใจไหม ผมไม่เคยคิด เพราะนี่เป็นสิ่งที่เราเลือกแล้วว่าจะทำแบบนี้ แล้วเวลาพ่อจากไป ผมก็ไม่ได้ร้องไห้คร่ำครวญอะไร ผมก็รู้สึกว่าชีวิตก็แบบนี้ ถึงอย่างไรคนเราก็ต้องตาย พบกันแล้วก็ต้องจากกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมเชื่อว่าหากเรายังคิดถึงอยู่ เขาก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน”
ความจริงก่อนที่ ม.ร.ว.ปรัชญากรจะจากไป หลายปีก่อนเขาเคยเผชิญกับภาวะวิกฤตมาก่อน ถึงจะรอดมาได้ แต่ก็ป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา ห้วงเวลานี้เองที่ความสัมพันธ์ของพ่อลูกกลับมาใกล้ชิดกันขึ้น
เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องพูด แต่ก็สื่อสารกันได้ทางใจ
ม.ล.ปริญญากร เขียนเล่าในหนังสือเล่มล่าสุดว่า ทุกครั้งที่ออกจากป่า พ่อจะวางแผนให้แม่มาบอกว่า อยากไปกินข้าวร้านนั้นร้านนี้บ้าง ทั้งที่ความจริงไม่ได้อยากกินสักเท่าใด ในทางกลับกัน ตัวเขาเองก็พยายามให้เวลากับพ่อมากขึ้น พาไปฟอกไต ดูแลกันเต็มที่ จนถึงขั้นพ่อพูดขึ้นมาว่า “ไม่นึกว่าจะมีวันนี้”
“เขาอาจจะพูดขำๆ แต่ทำให้ผมคิดว่า ผมเองไม่ได้ทำหน้าที่ลูกที่ดี ที่พูดนี้ไม่ได้มานั่งคร่ำครวญอะไร ผมเข้าใจว่าด้วยวิถีชีวิตของเราทำให้ห่างเหิน หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำอยู่พอสมควร”
ตลอด 30 กว่าปีของการทำงาน ช่างภาพสัตว์ป่าผู้นี้ยังคงมุ่งมั่นบนเส้นทางสายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสัมผัสชัดเจนยิ่งขึ้น คือ แต่ละย่างก้าวที่ประทับลงไปนั้น ล้วนมีพ่อเป็นแรงบันดาลใจ
เหมือนที่เคยย้ำเสมอว่า ถ้าไม่มีโจม่า กระเวีย ย่อมไม่มีเขาในวันนี้ เพราะที่จริงแล้วเขาก็คือลูกไม้ใต้ต้นดีๆ นั่นเอง
“ถามตอนนี้ว่าใครคือฮีโร่ของผม ก็คือพ่อนั่นแหละ สมัยเด็กๆ ก็ไปหาใครไม่รู้ อเล็กซานเดอร์มหาราช ไกลมาก.. แต่ถึงตอนนี้ผมก็รู้สึกว่าพ่อเป็นฮีโร่ เขาสอนเราด้วยตัวเขาเอง ฮีโร่ของลูกก็คือพ่ออยู่แล้ว ไม่ว่าใคร ผมเชื่อว่าอย่างนั้น”
นักธุรกิจที่หลงใหลธรรมชาติ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาระดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นผู้บุกเบิกเว็บไซต์ Siamensis.org
อดีตอาจารย์สถาปัตย์ ผู้ปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักต้นไม้ และเชื่อมโยงธรรมชาติกับงานสถาปัตยกรรม
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานที่เป็นทั้งแรงบันดาลและต้นแบบให้ช่างภาพรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม
เรื่องราวของครูผู้ปลูกฝังความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับงานสถาปัตยกรรม
กลุ่มออนไลน์ที่เกิดจากการแบ่งปันความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดมาสู่การสร้างโรงเรียนปลูกป่าที่มีเป้าหมายอยากรักษาพันธุ์ไม้ดีๆ ให้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป
ช่างภาพบุคคลระดับตำนานชาวอเมริกัน ผู้สามารถดึงดูดเสน่ห์ของคนที่แบบออกมาได้เหลือเชื่อ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักถ่ายภาพรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบัน
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.