อะไรคือความหมายของชีวิตคุณ?
ช่วงนี้มีปรัชญาญี่ปุ่นที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ คือ ‘อิคิไก’ หรือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่
หากคุณนึกภาพไม่ออก ขอให้คิดถึงการตื่นขึ้นมาตอนเช้าๆ แล้วอยากลุกออกจากเตียงมาทำสิ่งนั้น โดยไม่รู้สึกเบื่อหรืออยากจะกลับไปนอนต่อ นั่นแหละคือ
อิคิไกไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีฐานะร่ำรวย มีเวลา มีโอกาสเลือกทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ หากมันเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งคุณไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อ 80 ปีก่อน มีชายคนหนึ่งที่ชีวิตเต็มไปด้วยความรุ่งโรจน์ มีเงิน มีหน้าตาทางสังคม มีทุกอย่างที่พึงปรารถนา
แต่วันหนึ่งทุกอย่างจบสิ้นลง เมื่อเขาอายุได้เพียง 30 ปี เพราะคำสั่ง ‘จำคุกตลอดชีวิต’
ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไรกับชีวิตที่แทบมองไม่เห็นความหวัง?
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนย้อนกลับไปพบกับเรื่องราวการสร้าง The New Model English-Thai Dictionary หนังสือพจนานุกรมเล่มโตที่หนากว่า 4,000 หน้า ผลงานชิ้นโบแดงที่เกิดขึ้นในเรือนจำ และกลายเป็นตำราทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า นี่ยังเป็นภาพสะท้อนถึงเหตุผลในการมีชีวิตของอดีตนักโทษที่ชื่อ สอ เสถบุตร
ใครจะคิดว่าจากหลวงมหาสิทธิโวหาร อดีตข้าราชการหนุ่ม วัยไม่ถึง 30 ปี ที่ผันตัวเป็นนักธุรกิจโรงเบียร์ จะต้องกลายเป็น นักโทษชายสอ เศรษฐบุตร ผู้ต้องโทษสูงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หลังเข้าไปพัวพันกับเหตุกบฏครั้งแรกของเมืองไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
สอถูกส่งตัวเข้าเรือนจำบางขวาง วันๆ ชีวิตไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ตื่น กิน นอน และทำงานที่ได้รับมอบหมายในคุก แน่นอนว่าหากเป็นคนทั่วไปแล้ว ด้วยโทษที่รุนแรงขนาดนี้ คงต้องหมดอาลัยตายอยากในชีวิต อย่างพระยายศพันเอกท่านหนึ่งก็ตัดสินใจผูกคอตาย
แต่สอคิดต่างว่าการปล่อยให้ชีวิตล่วงเลยโดยเปล่าประโยชน์ก็คงไม่มีอะไรดีขึ้นมา เขาพยายามหากิจกรรมต่างๆ ทำในคุก เช่น การลักลอบประดิษฐ์เครื่องรับส่งวิทยุจากกระป๋องนมข้นกับขดลวดเล็กๆ เพื่อรับฟังข่าวสารจากโลกภายนอก
ช่วงแรกๆ ฟังได้เฉพาะข่าวสารในประเทศเท่านั้น แต่สออยากรับรู้เหตุการณ์ทั่วโลกก็เลยส่งจดหมายลับไปถึงมารดาให้ช่วยส่งหลอดวิทยุมาให้คู่หนึ่ง พร้อมกับตะกั่วแท่ง หัวแร้งบัดกรี น้ำกรดกำมะถัน พอได้ของครบ เขาก็ประดิษฐ์เครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นเพื่อรับฟังข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก
ข่าวหนึ่งที่สอได้รับทราบจากวิทยุตอนนั้นคือ การสละราชสมบัติของในหลวง รัชกาลที่ 7
อีกเรื่องหนึ่งสอทำเป็นประจำก็คือ การเป็นที่ปรึกษาภาษาอังกฤษให้แก่คนหนุ่มสาวในคุก
เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปัญญาชน และนิยมหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ จึงให้ญาติพี่น้องนำหนังสือประเภทพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ ตำรางานช่าง ตำราพฤกษศาสตร์ ฯลฯ มาให้ แต่กว่าจะเอาเข้ามาได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ เพราะต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ของกรมราชทัณฑ์
พอได้มาแล้วก็เวียนกันอ่าน ทว่าหลายเล่มเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายคนไม่ช่ำชอง บางประโยคก็ซับซ้อนมาก โดยเฉพาะพวกงานวรรณกรรม จึงต้องมาขอความรู้กับสอ ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และอ่อนอาวุโสที่สุดในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ
หลังมีคนถามบ่อยๆ เข้า สอก็เลยเกิดความคิดว่า คงจะมีบรรดาหนุ่มสาวอีกหลายล้านคนที่ต้องการจะหาความรู้จากหนังสือภาษาต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกล้มความคิดเพราะอธิบายความหมายของภาษาอังกฤษไม่ได้ แถมหนังสือรวมคำศัพท์ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็เน้นอธิบายเป็นคำๆ ไม่ได้เน้นเรื่องสำนวนหรือความหมายโดยนัย พอมาอ่านเป็นรูปประโยคก็เลยมักตีความผิด
สอมองว่าการนั่งอธิบายให้ความรู้แก่คน 20-30 คนก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรมาก ความจริงควรจะมีเครื่องมืออะไรสักอย่างเพื่อช่วยขจัดปัญหานี้..ทั้งหมดนี้กลายเป็นที่มาของ The New Model English-Siamese Dictionary ปทานุกรมเล่มใหญ่และทันสมัยสุดในยุคนั้น
ว่ากันว่า ปกติการทำพจนานุกรมเล่มหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก และยิ่งการทำในคุกด้วยแล้ว ก็คงลำบากกว่าเป็นไหนๆ
สอตั้งโจทย์กับตัวเองว่า พจนานุกรมหรือที่สอเรียกว่าปทานุกรมที่กำลังทำ ‘ต้องไม่เหมือนใคร’
เขาอยากให้หนังสือเล่มนี้มีชีวิต เป็นคู่มือที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แท้จริง เพราะฉะนั้นนั้นนอกจากความหมายของคำศัพท์แล้ว ตัวอย่างประโยค รวมทั้งการสอดแทรกความรู้ทางวิชาการก็เป็นเรื่องที่สอให้ความสำคัญ
แต่กว่าที่งานจะเริ่มได้ สอต้องรวบรวมตำรับตำรามากมาย เพื่อสร้างคลังคำศัพท์ รวมถึงแรงงานที่จะมาเป็นมือไม้ในการผลิตงานที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้
สอขอยืมหนังสือหลายๆ เล่มจากเพื่อนฝูงร่วมชะตากรรม เช่น พระศรีสุทัศน์ ซึ่งครอบครอง Dictionary ฉบับ Oxford ส่วน Webster’s ได้รับการอนุเคราะห์จากเทอญ มหาเปารยะ นอกจากนั้นก็นำเข้าจากข้างนอก ไม่ว่าจะเป็น Dictionary of Slang, Book of Quotations, Modern English Usage, Roget’s Thesaurus, Dictionary of Phrases and Fables แม้แต่หนังสือรายชื่อพรรณไม้ในสยาม ปูมโหราศาสตร์ และวิธีทำกับข้าว ก็ถูกนำมาต้นทุนสำคัญของโครงการใหญ่นี้
แต่เล่มที่สอบอกว่ามีคุณูปการสำหรับเขามากที่สุดคือ ปทานุกรมภาษาอังกฤษเป็นจีนของ Henry Bain โดยเขาย้ำว่า “..ถ้าไม่มีปทานุกรมจีนเล่มนี้ บางทีปทานุกรมเล่มที่ท่านถืออยู่อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้..”
ส่วนทีมงานหลักๆ มีประมาณ 9 คน ทั้งหมดเป็นกลุ่มคนที่สอสนิทสนม แล้วก็พวกเด็กๆ ที่มักขอความช่วยเหลือจากเขา โดยสอทำหน้าที่เป็นมันสมอง คอยเปิดหนังสือต่างๆ แล้วนึกอะไรออกก็พูดออกมา ส่วนลูกมือก็จะคอยจดคำพูดลงสมุด ขณะที่ทีมงานที่เหลือก็จะช่วยกันเรียงความหมายเป็นชุดเป็นกลุ่ม ตรวจทานและคัดลอกใหม่ให้สวยงาม
ด้วยความที่งานนี้ค่อนข้างสัมพันธ์กับชีวิตของสอ ประโยคที่เขานึกถึงจึงมักเกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว ความเชื่อ ความคิด หรือบางครั้งก็เป็นประโยคกระทบผู้มีอำนาจสมัยนั้น เช่น คำว่า Just เขาเขียนว่า There is no justice in the world – ไม่มีความยุติธรรมบนโลกใบนี้
แต่นี่ยังท้าทายไม่พอ เพราะงานทั้งหมดต้อง ‘แอบทำ’ ไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ พวกเขาต้องหาวิธีซ่อนสมบัติด้วยการปืนฝาห้องแล้วเจาะเพดาน พอได้ยินเสียงผู้ตรวจก็จะรีบขนของทั้งหมดขึ้นไปแอบให้พ้นสายตา
สอใช้เวลาเกือบทั้งวันทำ Dictionary แม้แต่ยามค่ำคืน หากนึกคำศัพท์อะไรออกก็จะลุกขึ้นมาเขียน ส่วนต้นฉบับที่เขียนเสร็จ สอใช้จังหวะที่แม่มาเยี่ยมเดือนละ 2 ครั้งลักลอบนำออกไป โดยเคล็ดลับอยู่ที่กระติกน้ำ ซึ่งสามารถถอดออกเป็น 2 ชั้น และพอกลับถึงบ้าน แม่ก็จะถอดกระติกชั้นนอกออกแล้วนำเอกสารที่สอซุกเอาไว้มาซ่อนอีกที
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นฉบับหลายร้อยหน้า แต่สอก็ยังไม่กล้าตัดสินใจพิมพ์เผยแพร่ เพราะเห็นว่าปทานุกรมเป็นงานใหญ่ใช้กระดาษหลายร้อยยก สุดท้ายอาจกลายเป็นภาระหนักของผู้จัดพิมพ์ ดีไม่ดีอาจพิมพ์ไปแล้วเกิดไม่ตรงกับความตั้งใจของผู้เขียนจะยุ่งยากเสียเปล่า แถมช่วงนั้นมีข่าวลือเกิดขึ้นมากมาย เช่นการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทำให้สอแอบตั้งความหวังว่าจะสามารถออกไปพิมพ์หนังสือขายด้วยตนเอง
แต่สุดท้ายคือ เขากลัวอิทธิพลของผู้มีอำนาจในยุคนั้น เพราะหากทราบว่างานนี้เกิดขึ้นในคุก สิ่งที่เขาทุ่มเทมาหลายปี อาจถึงคราวล่มจมเสียง่ายๆ ดังนั้นงานทั้งหมดจึงถูกส่งไปเก็บไว้ที่บ้าน เหลือไว้เพียงฉบับร่างเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานต่อไปเท่านั้น
สอใช้เวลาร่วมปีสร้างผลงานต่อเนื่องจนถึงตัวอักษร G กระทั่งพระยานิพนธ์พจนานารถ เจ้าของโรงพิมพ์กรุงเทพบรรณาการ มาเยี่ยมและทราบถึงโครงการที่สอทำอยู่จึงอยากช่วยสนับสนุน
เขาเห็นว่ากรุงเทพบรรณาการเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ และกว้างขวางในตลาดหนังสือคงสามารถผลักดันผลงานของเขาไปสู่ท้องตลาดได้ไม่ยาก บวกกับเจ้าคุณเองก็เสนอความคิดว่า จะประกาศว่าสอเขียนต้นฉบับเสร็จก่อนถูกจับแล้ว และปัจจัยสำคัญสุดคือ เขาต้องการทดแทนบุญคุณของแม่ซึ่งชราลงทุกวันนี้ จึงตัดสินใจมอบให้พระยานิพนธ์ฯ เป็นธุระจัดพิมพ์ ภายใต้ข้อตกลงว่าต้องมอบรายได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมดให้มารดาของเขา
อย่างไรก็ตาม หลังหนังสือวางจำหน่าย ผู้อ่านหลายคน (ซึ่งคงรวมถึงผู้คุมด้วย) เห็นว่าประโยคที่ใช้อธิบายคำศัพท์นั้นดูแฝงไปด้วยความเห็นทางการเมืองไปหน่อย แถมหลายเรื่องเกิดขึ้นหลังสอถูกจับแน่นอน สอจึงถูกผู้คุมคุกต้องเรียกไปพบ
แต่สอก็อ้างว่าเรื่องนี้เขาไม่รู้เรื่อง สงสัยผู้จัดพิมพ์ได้ตกแต่งประโยคเพิ่มเติม เพื่อให้ปทานุกรมทันสมัย และสอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และเหตุผลนี้เองที่ทำให้การพิมพ์ The New Model English-Siamese Dictionary เล่มย่อยๆ หลังจากนั้นเป็นไปได้ด้วยดี
The New Model English-Siamese Dictionary ฉบับแรก ออกสู่ตลาดให้ผู้สนใจได้จับจองเมื่อเดือนตุลาคม 2480 ตีพิมพ์เป็นประจำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ยก ยกละ 24 หน้า และหากผู้ใดสั่งจองฉบับเย็บเล่มยกชุด ก็จะได้รับส่วนลดพิเศษต่างหาก ทำให้บรรดาห้องสมุด ร้านค้าบริษัทต่างๆ พากันจองปทานุกรมเล่มนี้เป็นการใหญ่
จุดเด่นอีกอย่างของปทานุกรมฉบับย่อย คือการรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่มาจากประสบการณ์จริงของสอ อย่างเล่มหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่ได้เหยียบเกาะอังกฤษครั้งแรก แล้วเกิดรู้สึกไม่สบายตัวอยากเข้าห้องน้ำ เขาจึงถามคนแถวนั้นว่า ลาเวตอรี่ (Lavatory) อยู่ที่ไหน แต่ดูเหมือนคนอังกฤษจะไม่เข้าใจสิ่งที่สอพูดเลย ถามอยู่หลายคนก็ไม่มีใครบอกสอได้ จนกระทั่งมีคนที่รอรับสอมา สอก็เลยถามหาห้องน้ำด้วยสำเนียงเดิม คนที่มารับนึกอยู่พักใหญ่จึงถามกลับว่าหมายถึง แลฟวะตอรี่ ใช่ไหม สอจึงถึงบางอ้อว่าเสียงหนักเบาในภาษาอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
สอใช้เวลาทั้งหมดเร่งทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนความตั้งใจของเขาจะถูกขัดขวาง หลังรัฐบาลมีคำสั่งให้ย้ายนักโทษไปยังเกาะตะรุเตาแทน ขณะที่เขาเขียนปทานุกรมมาได้ถึงตัว S
สอเก็บข้าวของตำรับตำรามากมายลงเรือ และมุ่งหน้าไปสู่ดินแดนที่ไกลผู้ไกลคน เขารู้ทันทีว่า ต่อไปงานนี้คงจะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการรับส่งจดหมายคงทำได้ลำบาก และอาจกินเวลานานนับเดือน
ด้วยความที่ตะรุเตาค่อนข้างตัดขาดจากโลกภายนอก ทำให้บรรดานักโทษได้รับอิสระค่อนข้างมาก
ไม่มีโซ่ตรอนร้อยข้อเท้า แถมยังได้รับอนุญาตให้ปลูกกระท่อมนอกห้องขังอีกต่างหาก สอจึงตัดสินใจปลีกวิเวกและทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดเพื่อผลิต Dictionary
แต่ระหว่างที่เขียนได้ถึงตัว T เพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมคนหนึ่งก็ได้ชักชวนให้สอทำสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตไปตลอดกาล
สอลังเลอยู่พักใหญ่ว่าจะ ‘หนี’ หรือ ‘ไม่หนี’
เพราะใจหนึ่งเขาก็โหยหาอิสรภาพ เหมือนเสรีชนทุกคน แวบหนึ่งเขานำผลงานของตัวเองไปฝากที่เพื่อนนักโทษอีกคนโดยอ้างว่าหลังคากระท่อมของเขามีน้ำรั่ว เกรงว่าจะทำให้กระดาษเสียหาย
ขณะที่อีกใจก็อดเป็นห่วงงานปทานุกรมที่ยังคั่งค้างอยู่ เพราะถึงแม้จะทำงานส่งมาจากเมืองนอกได้ แต่พระยานิพนธ์ฯ ผู้พิมพ์ก็คงจะลำบากใจไม่น้อย เพราะรัฐบาลคงไม่ยอมปล่อยให้งานของนักโทษหนีคุกถูกตีพิมพ์แบบนี้เรื่อยๆ แน่นอน แล้วยังมีเรื่องเงินนับหมื่นบาทของผู้ที่สั่งจองมาล่วงหน้าอีกต่างหาก
แต่บุคคลที่ดูจะมีอิทธิพลทางความของสอมากที่สุด เห็นจะไม่พ้น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ที่ตรัสทักท้วงว่างานที่เขาทำอยู่นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด และมีประโยชน์ต่อประชาชนมหาศาล การทิ้งงานทิ้งความรับผิดชอบก็ไม่ต่างจากคนที่ไร้ซึ่งอุดมคติ
นอกจากนี้ยังทรงวิเคราะห์ว่า บ้านเมืองเวลานี้กำลังเข้าใกล้เข้าสู่ยุคสงครามโลก เพราะตอนนี้เกิดสงครามในยุโรปขึ้นแล้ว และดูเหมือนญี่ปุ่นเองก็มีแผนจะยึดเอเชีย สยามเองก็ดูท่าจะหลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้ เพราะฉะนั้นอีกไม่นานก็คงจะมีการปล่อยตัวนักโทษให้ออกมาเป็นกำลังต่อสู้กับข้าศึก
และอีกคนที่บอกกับสอด้วยถ้อยคำสั้นๆ ว่า “อย่าไป” ก็คือแม่ของเขา ซึ่งย้ายมาอยู่ที่สตูลและพยายามหารหัสลับเพื่อติดตามกับบุตรชายตลอดเวลา
สอจึงขอต้นฉบับที่ฝากเพื่อนนักโทษไว้คืน พร้อมกับปฏิเสธกลุ่มคนที่ชวนเขาหนี เพื่อใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดผลิตปทานุกรมให้เสร็จ เขาสามารถส่งต้นฉบับ 2 เล่มสุดท้ายคือ 139-140 ไปยังพระยานิพนธ์ฯ ได้ทันเวลาตีพิมพ์คือเดือนมิถุนายน 2483 ปิดฉากปทานุกรมขนาด 4,000 หน้าอย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ เขายังเห็นว่าปทานุกรมที่ทำมีขนาดที่ใหญ่เกินไป คนทั่วไปคงจะไม่มีกำลังพอที่หาซื้อไว้ใช้งาน จึงริเริ่มทำปทานุกรมฉบับตั้งโต๊ะที่ย่อยคำศัพท์ลงมาให้เหลือเฉพาะที่มักใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหลังร่างต้นฉบับไปได้พอสมควร เขาก็จ้างบรรดานักโทษการเมืองหนุ่มๆ ให้ช่วยคัดลอกลงสมุดด้วยอัตราค่าใช้จ้างเล่มละ 25 สตางค์
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่หนีของสอได้นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต
เพราะถึงสุดท้ายประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสงครามโลกเหมือนที่ท่านสิทธิพรคาดคะเน แต่ทางการก็ไม่ได้ปล่อยตัวนักโทษแต่อย่างใด แถมยังมีแผนย้ายตัวไปยังเกาะเต่า ซึ่งทั้งเกาะไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย มีเพียงเต่าตะนุที่ขึ้นฝั่งมาเพื่อวางไข่เท่านั้น
ชีวิตที่เกาะเต่าต่างจากตะรุเตาชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาต้องทำงานหนักทั้งถางหญ้า ทำถนน โค่นต้นไม้ ปลูกพืชสารพัดอย่าง แถมบางคนยังต้องเผชิญกับไข้มาลาเรียจนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อประทังชีวิตให้รอด สอจึงทดลองชิมพืชพรรณใบไม้ในป่า และทดสอบว่าสมุนไพรใดมีสรรพคุณคล้ายๆ ยาควินินบ้าง ก่อนที่จะแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วย แม้สุดท้ายจะไม่หายขาด แต่ก็ยังสามารถประคองอาการไม่ให้ทรุดไปกว่านี้
หลังเผชิญในนรกเกาะเต่าอยู่หลายปี สอก็ได้รับข่าวดีว่า รัฐบาลใหม่ได้สั่งนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองแล้ว รวมเวลาที่ถูกคุมขังในคุกและบนเกาะทั้งสิ้น 10 ปี 11 เดือน 20 วัน
หลังได้รับอิสรภาพ ชีวิตของสอก็ก้าวกระโดดไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ และการเมือง แต่สุดท้ายดูเหมือนจะไม่มีงานใดที่มีคุณค่ากับชีวิตเท่าการทำปทานุกรมเลย
สอเริ่มกลับมาทำ The New Model English-Siamese Dictionary อีกครั้ง หลังขาดตลาดไปพักใหญ่ เนื่องจากท่านเจ้าคุณนิพนธ์ฯ เจ้าของสำนักพิมพ์กรุงเทพบรรณาคารถูกระเบิด ถึงแก่กรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เดิมทีเขาคิดจะหาสำนักพิมพ์มารับช่วงพิมพ์เหมือนเคย แล้วค่อยมาแบ่งค่าลิขสิทธิ์กันอีกที แต่ พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร ภรรยาของเขาเห็นว่า งานนี้ใหญ่เกินกว่าจะมีที่ใดรับพิมพ์ และหากเกิดความผิดพลาดจากการพิมพ์ คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือ เจ้าของผลงาน ดังนั้นสู้พิมพ์เอง ขายเองดีกว่า
แต่ปัญหาสำคัญคือ สอไม่มีเงินเลย แม้แต่บ้านหรือที่ดินก็ไม่มี เขาจึงหอบปทานุกรมทั้งหมดไปหานายธนาคารขอใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เหมือนต่างประเทศที่งานลิขสิทธิ์ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่เมืองไทยนั้นต่างกัน ของแบบนี้เอามาใช้เป็นหลักทรัพย์ไม่ได้
ขณะที่ใกล้หมดหวัง พิมพ์วัลคุ์จึงบอกให้สอทดลองใช้วิธีระดมทุนจากประชาชน โดยประกาศให้ผู้ที่ติดตามงานช่วยสั่งจองปทานุกรมในราคาต้นทุน หากมีมากพอก็คงได้เงินก้อนสำหรับเป็นค่าแรงและค่าดำเนินการของโรงพิมพ์
The New Model English-Thai Dictionary (Library Edition) เปิดให้สั่งจองชุดละ 190 บาท จากราคาเต็ม 350 บาท
สอตั้งความหวังกับโครงการนี้มาก แต่เพียงแค่เดือนเดียว เขาก็ต้องใจแป้วเสียแล้ว เพราะมียอดจองแค่ประมาณสิบกว่าเล่มเท่านั้น พอถึงเดือนที่ 2 ยอดก็ยังไม่กระเตื้อง เพราะคนจองเพิ่มแค่ 30 กว่าคนเท่านั้น
กระทั่ง 5 วันสุดท้าย ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างสอ เพราะจู่ๆ ก็มีผู้คนจำนวนแห่เข้ามาจองปทานุกรมจนแน่นขนัด ทำให้สอรอดวิกฤตขาดทุนมาได้อย่างหวุดหวิด
หลังพิมพ์เสร็จ ปทานุกรมของสอขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แม้กระทั่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นบุคคลที่จับสอเข้าคุก ก็ยังอุดหนุน
ขณะเดียวกัน สอยังพยายามปรับปรุงผลงานเสมอ ทั้งอัพเดทคำศัพท์ รวมถึงทำฉบับขนาดต่างๆ และปรับราคาตามความเหมาะสม เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลายที่สุด
ช่วงสิบปีสุดท้าย สอยังคงผลิตผลงานด้านภาษาออกมาต่อเนื่อง แต่ทว่าเคราะห์กรรมในชีวิตก็ยังไม่หมดเสียที
เนื่องจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยการนำหนังสือปทานุกรมไปจัดพิมพ์ใหม่ โดยแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้เหมือนต้นฉบับ 100% แถมช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาเปลี่ยนแปลงบริษัทผู้จัดจำหน่ายพอดี ทำให้การจำหน่ายหนังสือล่าช้าอย่างยิ่ง จนเขาแทบไม่มีรายได้เข้ามาเลย
สอจึงตัดสินใจต่อยอดงานด้วยการผลิตปทานุกรมไทยเป็นอังกฤษ พร้อมกับเปิดให้สั่งจอง ทำให้มีรายได้เพียงพอ โดยระหว่างนั้นเขาไปเก็บตัวอยู่ตามหัวเมืองชายทะเล ทั้งสัตหีบ หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์ นานถึง 15 เดือนเต็ม จนได้ผลงานที่สมบูรณ์และทันสมัย แต่ในทางกลับกันก็ทำให้สุขภาพเสื่อมถอย เพราะโหมงานหนักเกิน
หลังสู้ความยืดเยื้ออยู่หลายปี ศาลก็ตัดสินใจให้สอชนะโดยได้ค่าเสียหายแบบไม่ค่อยคุ้มเท่าใดนัก ประมาณ 30,000 บาท สอรู้สึกเบื่อหน่าย และคิดว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้คงเกิดขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจขายลิขสิทธิ์แก่สำนักพิมพ์ที่วางใจว่าจะสามารถรักษาชื่อเสียงของเขาตลอดกาล โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากคนในครอบครัว
ถึงวันนี้คงไม่มีใครบอกได้ว่า สุดท้ายแล้วการตัดสินใจครั้งนั้น ผิดหรือถูกกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ก็คือ ถึงโลกใบนี้จะเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามากมาย แต่ผลงานที่สอทุ่มเทก็ยังคงปรากฏอยู่คู่สังคมไทย ทั้งแบบเป็นเล่มและแบบออนไลน์ เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณค่าที่เหนือกาลเวลาของผลงานประวัติศาสตร์ชุดนี้ได้อย่างดี
แต่นั่นยังไม่เท่ากับการที่เขาทำให้ทุกคนได้เห็นว่า การค้นหาความหมายของชีวิต ‘สำคัญ’ อย่างไร
เรื่องของบรรณาธิการสำนักพิมพ์การ์ตูนที่อยู่ในวงการมากว่า 40 ปี และยังคงครองความนิยมของผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้
ศิลปินแห่งชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้พยายามสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง
ย้อนรอยความคิดของนักแปล โต๊ะโตะจัง หนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กมานานกว่า 40 ปี
นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ผู้สร้างผลงานแนวจิตวิทยา ที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่านชาวไทยมากมาย
ชายนักฝัน ผู้หวังเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็นเมืองแห่งการอ่าน ด้วยการสร้างร้านหนังสือขนาดสนามฟุตบอล
นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นระดับตำนาน ผู้สร้างยอดมนุษย์มากมาย เช่น ไอ้มดแดง
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.