เมื่อปี 2552 ชื่อของ ด.ช.หม่อง ทองดี วัย 12 ปี กลายเป็นบุคคลที่คนไทยทั้งประเทศต่างรู้จัก
เหตุเพราะนักเรียนชั้น ป.4 ผู้นี้ ได้รับเลือกให้ไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหม่องกับเพื่อนๆ ก็ทำผลงานออกมาได้ยอดเยี่ยม คว้าแชมป์ระดับโลกมาครองได้สำเร็จ
แต่กว่าที่เขาจะสร้างผลงานเลื่องชื่อได้นั้น กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคสารพัด เนื่องจากเด็กชายถูกระบุว่ามีสถานภาพ ‘ไร้สัญชาติ’ จนนำมาสู่คำถามใหญ่ที่ว่า เขามีสิทธิเดินทางออกนอกประเทศได้ไหม
แม้สุดท้ายหม่องจะเดินทางถึงญี่ปุ่นได้ตามฝัน แต่เหตุการณ์นี้ก็เป็นเสมือนสารตั้งต้นที่ทำให้ใครหลายคนหันมาสนใจและตั้งคำถามกับเรื่องสัญชาติจริงจัง
เพราะถ้าว่าไปแล้ว การเดินทางไปไหนมาไหนควรเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไปด้วยซ้ำ แต่สำหรับคนไร้สัญชาติแล้ว ลำพังแค่ข้ามจังหวัดยังลำบากเลย และหากพิจารณาถึงรายละเอียด จะพบอีกว่า เรื่องนี้ยังกระทบไปถึงประเด็นอื่นๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างครอบครัว การประกอบอาชีพ การแสวงหาที่พักอาศัย การเข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือแม้แต่การศึกษา
แน่นอน เหตุการณ์ของหม่องไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่คนไทยลุกขึ้นมาถกเถียงเรื่องสัญชาติ แต่ยังมีกรณีศึกษาอีกนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ชาวบ้านที่วันหนึ่งถูกเพิกถอนรายการสัญชาติไทยออกจากทะเบียนราษฎร หรือเด็กหนุ่มที่อยากเป็นหมอ แต่กลับเข้าเรียนไม่ได้ เพราะถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรว่าถือสัญชาติเวียดนาม หรือแม้แต่กรณีของ 13 หมูป่าอะคาเดมีที่เคยติดถ้ำหลวง เดิมทีโค้ชและนักเตะหลายคนก็ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนไร้สัญชาติเช่นกัน
รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรือ อาจารย์แหวว จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือบุคคลที่ทำงานคลุกคลีกับเรื่องคนไร้สัญชาติ และสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลมายาวนานหลายสิบปี โดยนอกจากเข้าไปเป็นตัวกลางคอยประสานงานและเดินเรื่องกับหน่วยราชการต่างๆ แล้ว อาจารย์ยังสร้างห้องทดลองที่ชื่อว่า ‘บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์’ เพื่อทำงานวิจัย สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ เสนอนโยบาย ตลอดจนทำงานร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายต่างๆ ทั้งคลินิกกฎหมายแม่อาย โครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก รวมถึงคลินิกกฎหมายกระจกเงา ด้วยความที่อยากให้กฎหมายเป็นที่พึ่งพิงของทุกคนได้อย่างแท้จริง
แม้ตลอดการทำงานหลายสิบปีนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่อาจารย์และเหล่าลูกศิษย์ ตลอดจนเครือข่ายการทำงาน ก็ไม่เคยหวั่นไหว ยังคงเดินทางท้าทายความยากลำบากอย่างเต็มที่
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงถือโอกาสนี้ชักชวนอาจารย์แหววมาพูดคุยและถอดบทเรียนการทำงาน พร้อมบอกเล่าถึงความฝันและความตั้งใจที่อยากให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือทุกคนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เพราะไม่ว่าใครๆ ต่างก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกันเลย
เดิมทีอาจารย์แหววไม่ได้สนใจในประเด็นเรื่องสัญชาติเท่าใดนัก เพราะความรับผิดชอบหลักในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการสอนกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ
แต่คงเพราะโชคชะตา เป็นเหตุให้ต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้เป็นประจำ
โดยเมื่อปี 2532 อาจารย์แหววได้รับมอบหมายจาก ศ.พิเศษ สุดา วิศรุตพิชญ์ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ให้ไปศึกษาปัญหาเรื่องญวนอพยพ เนื่องจากเวลานั้นมีผู้ลี้ภัยจากเวียดนาม จากเหตุสงครามอินโดจีน เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
“อาจารย์สุดาคงมองว่าเราเป็นคนสมองดี แต่ที่ผ่านมาเป็นคนเหลวไหล แกเลยเรียกมาถอดเทป เรียกมาทำนั่นทำนี่ แล้วส่วนตัวเรียนคอนแวนต์มาตั้งแต่เด็ก ภาษาฝรั่งเศสค่อนข้างดี ขณะที่ภาษาอังกฤษก็งั้นๆ แต่พอดีเรามีแฟน เขาได้ทุนไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เราก็อยากตามไปเรียนด้วย ไปสอบชิงทุน สอบข้อเขียนได้ แต่ตกปากเปล่าทุกรอบ อาจารย์ที่ปรึกษาเลยบอกว่าอย่าพยายามตามเขาไปเลย ไปฝรั่งเศสดีกว่า เพราะอารยธรรมทางกฎหมายของประเทศเรามาจากยุโรป
“จากนั้นแกก็สั่งให้ทำนั่นทำนี่ อย่างเรื่องญวนอพยพ ก็ให้เขียนฎีกาวิเคราะห์ ซึ่งเราก็ถามกลับว่า ใครจะอ่านเหรอคะ แต่สุดท้ายก็ต้องเขียน ทำให้เราต้องอ่านทุกคำพิพากษาที่เคยถูกตัดสินโดยศาลไทย จึงเริ่มเข้าใจถึงปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเกิดกับคนในหลายชุมชนมากขึ้น บวกกับเราเติบโตในยุค 6 ตุลาคม 2519 จึงเกลียดความรุนแรง ซึ่งในฐานะที่เราจบธรรมศาสตร์ เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ ต้องรับใช้ประชาชน”
ต่อมาเมื่อชาวบ้านกะเหรี่ยง จากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เข้ามาร้องเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2537 เพราะโดนจับกุม และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากอำเภอบันทึกว่าพวกเขาเป็นคนสัญชาติกะเหรี่ยง ทั้งที่เกิดในประเทศไทย และบิดามารดาก็ถือกำเนิดในประเทศไทยเหมือนกัน อาจารย์แหววจึงถูกตามตัวให้มาช่วยตอบคำถามว่า จะทำอย่างไรพวกเขาถึงจะมีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่น ซึ่งพอศึกษาข้อเท็จจริงอย่างละเอียดก็พบว่า รัฐไทยมีหน้าที่รับรองสิทธิและสถานะในสัญชาติไทยโดยการเกิดแก่ชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะพวกเขาเป็นชาวเขาดั้งเดิมที่อาศัยติดแผ่นดินไทย เป็นคนดั้งเดิมของอุษาคเนย์ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความห่างไกล และการสื่อสาร เพราะไม่ได้พูดภาษาไทย รวมทั้งสมัยก่อนมีกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านอพยพหนีภัยมาปะปนเต็มไปหมด ทำให้รายชื่อของพวกเขาตกหล่น และไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกันอาจารย์แหววก็เริ่มตระเวนสอนเรื่องสถานะบุคคลของมนุษย์ให้ตามศาล มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงโรงเรียนนายร้อยสามพราน เนื่องจากตำรวจหลายคนยังไม่ทราบว่า ประมวลกฎหมายอาญาใช้กับคนต่างด้าว และคนไร้รัฐไร้สัญชาติด้วย
พอดี ในเวลานั้นประเทศไทยเริ่มมีปัญหาแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจในบ้านเราเติบโต แต่ขาดแรงงานไร้ฝีมือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงได้ให้ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยทำวิจัยเรื่องแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงมีการชักชวนให้อาจารย์แหววที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาช่วยงาน และนำไปสู่ข้อเสนอให้ประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชาทำหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding – MOU) เพื่อทำให้กลุ่มผู้อพยพนี้กลายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และเมืองไทยก็จะไม่ถูกกล่าวหาว่าค้ามนุษย์ด้วย
อาจารย์แหววยังจำได้ดีว่าถูกบางคนโจมตีว่า เพี้ยน ไม่มีทางทำได้สำเร็จ แต่ยังดีที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในเวลานั้น รับข้อเสนอนี้ จึงเกิดการลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งยังทำให้แรงงานที่มีสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้กลับคืนไปสู่ทะเบียนราษฎรของประเทศต้นทางอีกด้วย
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เกิดการก่อร่างของชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาสถานะบุคคลขึ้นมา เพราะหลังจากนั้น อาจารย์แหววและมวลมิตรที่ทำงานกับอาจารย์กฤตยาบางส่วนก็มาทำงานกันต่อเพื่อจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของชาวเขาและบุคคลบนพื้นที่สูง
ในครั้งนั้นมีการเชิญชวนให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ เช่น สมบัติ บุญงามอนงค์ แห่งมูลนิธิกระจกเงา รวมถึง ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ หนึ่งในนั้นคือ ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติคนปัจจุบัน เข้ามาร่วมงานกัน มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน ภายใต้การจัดการของ ‘ศูนย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์’ ตั้งแต่ปี 2539-2544 ซึ่งเครือข่ายการทำงานนี้ได้สะสมองค์ความรู้และความเข้าใจระหว่างกันอย่างมาก อันก่อให้เกิดการทำงานที่จับต้องได้ต่อมาอีกมากมาย
ผลงานหนึ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ การเข้าไปรับทราบปัญหาและทำข้อเสนอแนะเพื่อเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งทำการชุมนุมกันและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและปัญหาสิทธิทำกิน ในปี 2541 เพราะหลังจากนั้นก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาให้สถานภาพบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งอาจารย์แหววก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วย
โดยครั้งนั้นอาจารย์ได้รับมอบหมายให้เขียนข้อเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อจัดการปัญหา จนนำมาสู่แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง หรือที่เรียกกันว่า ‘ระเบียบชาวเขา’ เมื่อปี 2543 ส่งผลให้ชาวเขาได้รับสิทธิในสุขภาวะ รวมทั้งได้บัตรประชาชนไทยกว่า 300,000 ชีวิต ที่สำคัญข้อเสนอดังกล่าวยังกลายเป็นแนวปฏิบัติ และสามารถช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวเขานับล้านคนจนถึงปัจจุบัน
อีกหมุดหมายที่สำคัญยิ่งคือ การช่วยเหลือชาวเขา เพื่อสืบสานพระปณิธานของสมเด็จย่าที่ทรงทำงานเพื่อชาวเขามาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นทำงานที่บ้านห้วยน้ำอุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่า ‘โครงการห้วยน้ำอุ่นแม่สรวยเชียงราย’ โดยบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ คุณพ่อวิชัย โภคทวี เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในช่วงเวลานั้น
คุณพ่อวิชัยเป็นบาทหลวงที่ทำกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อดูแลเรื่องสัญชาติของชาวเขาในประเทศไทยมาเนิ่นนาน โดยท่านได้อาสาตั้งโครงการทำงานกับชาวคาทอลิกในพื้นที่ที่มีชาวเขาไร้รัฐไร้สัญชาติ และมีลูกศิษย์ของคุณพ่อวิชัย 1 คน คือ อาจารย์สรินยา กิจประยูร และมีลูกศิษย์ของอาจารย์แหวว 1 คน คือ อาจารย์ชุติ งามอุรุเลิศ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีการลงพื้นที่ สำรวจปัญหา เก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อยืนยันสิทธิให้แก่ชาวบ้าน จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากบทเรียนนี้ก็กลายเป็นสูตรทำงานที่นำไปประยุกต์กับพื้นที่ต่างๆ กว่า 20 แห่งทั่วประเทศที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชาวเขาที่ไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นจำนวนมาก
ครั้งนั้นอาจารย์แหววได้เดินทางไปศึกษาปัญหาในพื้นที่ พร้อมกับมีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ของการเป็น ‘หมอกฎหมาย’ ที่คอยใช้กฎหมายช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้แก่ผู้คนอย่างแท้จริง จากเดิมที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ไปให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่นายอำเภอ และปลัดอำเภอตามศาลากลางจังหวัด ผู้นำศาสนา ตามโบสถ์คริสต์ วัด หรือมัสยิด หรือแม้แต่ชาวบ้านทั่วไป ส่งผลให้หลังจากนั้นชื่อของอาจารย์แหววกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถานะบุคคล และมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติติดต่อเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก
“ความจริงถ้าเลือกได้ ไม่เคยอยากสนใจ ไม่เคยอยากทำ เพราะคนเหล่านี้มีชีวิตที่รันทด น่าสงสารมาก แล้วเวลาลงพื้นที่ก็เหนื่อยมาก ไม่มีเวลาแต่งหน้าเลยด้วยซ้ำ รองเท้าก็จมโคลนไปหลายคู่ ยิ่งช่วงแรกของการทำงานเป็นช่วงปวดหัวมาก ต้องวางหลักคิด เถียงกับคนเยอะมาก ต้องหัดปากจัด ถูกคนว่า ขายสัญชาติ เพี้ยน บ้าฝรั่ง เป็นนักวิชาเกินก็มี”
ถึงอย่างนั้น การได้รับฟังเรื่องราวจากเจ้าของปัญหาอย่างแท้จริง บวกกับได้แลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรมการปกครอง ฯลฯ ทำให้อาจารย์แหววสัมผัสถึงปัญหาหนึ่งที่ท้าทายคือ คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ ต่างมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติจำกัด บางคนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘คนไร้รัฐ’ กับ ‘คนไร้สัญชาติ’ และมักเข้าใจว่าราษฎรไทยหมายถึงเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น
เนื่องจากตามหลักแล้วคนไร้รัฐคือ บุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ เพราะไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร เนื่องจากไม่ได้แจ้งการเกิดต่อทางราชการ ซึ่งอาจเป็นเพราะความห่างไกล ความไม่รู้ หรือมีเหตุจำเป็นบางประการ ทำให้สุดท้ายชื่อตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคล จึงเสมือนเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตน
ขณะที่คนไร้สัญชาติคือ คนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนราษฎร มีเอกสารแสดงตัวตน แต่ไม่ได้ถูกระบุว่าถือสัญชาติใด ซึ่งก็มีตั้งแต่ลูกของคนต่างด้าวที่หลบหนีแล้วมาเกิดในเมืองไทย เช่น หม่อง ทองดี หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งการปรากฏชื่อนี้ก็เท่ากับเขามีฐานะเป็นราษฎรไทยด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยเท่านั้น
ในเวลานั้น ผลจากการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ นอกจากทำให้เขาเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตนานัปการ เช่น การเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา การเดินทางออกนอกเขตจังหวัด การตั้งครอบครัว การลงทุน การแสวงหาที่อยู่อาศัย ซึ่งบ่อยครั้งแม้กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจ ทำให้การใช้กฎหมายผิดเพี้ยน จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ถึงตรงนี้อาจจะต้องเท้าความถึงเรื่องที่มาที่ไปของสัญชาติก่อน
ความจริงเรื่องสัญชาติเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวพันกับอำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยกฎหมายสัญชาติถูกกำหนดขึ้นหลังจากการเกิดของรัฐสมัยใหม่ หรือ Modern State ซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จึงมีการแบ่งพรมแดนและอาณาเขตของรัฐอย่างชัดเจน รัฐจะใช้กฎหมายนี้ในการกำหนดตัวมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐ หรือมีความกลมกลืนกับรัฐ ให้เป็นประชากรของตนเอง
เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการตราพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 กำหนดให้บุคคลที่ถือกำเนิดในแผ่นดินสยามได้รับสัญชาติโดยทันที นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมลูกหลานของชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในช่วงเมื่อเกือบร้อยปีก่อน จึงไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ เพราะคนเหล่านี้มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย จากการถือกำเนิดในดินแดนแห่งนี้
เช่นเดียวกับชาวจีนที่เกิดนอกประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่ออาศัยอยู่ในไทยจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ก็ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ และเมื่อสามีแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว ภรรยาทุกคน รวมถึงบุตรรุ่นเยาว์ก็จะถือสัญชาติไทยตามโดยไม่ต้องร้องขอ หรือแม้แต่บุตรที่เพิ่งอพยพเข้ามา และบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังไม่กลมกลืนกับสังคมไทย ก็สามารถยื่นขอรับรองสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติตามพ่อได้เหมือนกัน
ด้วยกลไกสัญชาติที่มีประสิทธิภาพ (Effective Nationality) ดังสากลนิยมในยุคนั้น จึงส่งผลให้แทบไม่ปรากฏมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติในชุมชนจีนสยาม หรือแม้แต่ชุมชนคนฝรั่งที่เข้ามาอาศัยในไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเลย
“สัญชาติคือความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างรัฐกับมนุษย์ ฝรั่งเรียกว่า Connecting Point หรือจุดเกาะเกี่ยว โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศ ถ้าคนคนนั้น มีจุดเกาะเกี่ยว หรือมีความกลมกลืนกับรัฐ รัฐก็ต้องมีหน้าที่รับรองสัญชาติ ต้องดูแลมนุษย์ของตัวเอง
“ไม่อย่างนั้น ประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายก็จะคอยหวาดกลัวว่าสัญชาติเป็นของรัฐ ถ้ารัฐไม่ให้เขาก็ไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วสัญชาติเป็นของคนทุกคน ดังนั้นการกีดกันไม่ให้คนที่มีจุดเกาะเกี่ยวหรือมีความกลมกลืนกับรัฐ ได้รับรองสัญชาติ โดยผลักให้มีสถานะเป็นคนต่างด้าวถูกกฎหมาย จึงเป็นเรื่องผิดอยู่แล้ว”
สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความเชื่อนี้คือ การที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2491 ในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยตามข้อที่ 6 ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และข้อที่ 15 ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง การถอนสัญชาติโดยพลการหรือปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลนั้นจะกระทำมิได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ถืออำนาจรัฐบางคนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย จนส่งผลกระทบถึงสิทธิของราษฎรไทยหลายๆ คน โดยเฉพาะประกาศของคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2515 ที่สั่งให้ถอนสัญชาติของบุคคลที่เกิดในเมืองไทย แต่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง ส่งผลให้ลูกครึ่งหลายคนในเวลานั้นต่างกลายเป็นคนต่างด้าวบ้าง เป็นคนไร้สัญชาติบ้าง และจะได้สัญชาติไทยก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรายๆ ไป
ในช่วงปี 2533-2534 อาจารย์แหววก็มีโอกาสได้เข้าไปช่วยให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อเด็กที่มีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยกรณีแรกที่ถูกนำมาศึกษา คือ ปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยของ ก๊อท-จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ ศิลปินชื่อดัง เพราะตกเป็นคนต่างด้าว เนื่องจากอำเภอไม่ยอมออกบัตรประชาชนให้ถือ ทั้งที่เขาเกิดในประเทศไทยจากแม่ที่ถือสัญชาติไทย แต่พ่อที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับแม่เป็นทหารอเมริกันที่มาทำงานในประเทศไทย โดยกรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับศิลปิน นักแสดงลูกครึ่งอีกหลายท่านอีกด้วย
ผลจากการศึกษาก็ทำให้สังคมเข้าใจถึงปัญหานี้มากขึ้น กระทั่งในปี 2535 อาจารย์แหววมีโอกาสไปช่วยงาน ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นรองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ ปรับแก้กฎหมายเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่า ‘ผู้ที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด’ ปัญหาจึงคลี่คลายลงไป
แต่ปัญหาไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เนื่องจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายสัญชาติ รวมถึงคนในสังคมไทยไม่รับรู้ว่า สิทธิในสัญชาติเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่สิทธิที่เป็นของรัฐ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนจึงเชื่อว่า ตัวเองมีอำนาจให้สัญชาติแก่ประชาชน ส่งผลให้เวลาปฏิบัติงาน แทนที่จะช่วยแก้ปัญหา กลับกลายเป็นยิ่งเพิ่มความยุ่งยาก และทำให้ผู้คนตกหล่นจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงแค่นั้น กฎหมายบางเรื่องก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น และนำไปสู่ปัญหาและข้อถกเถียงไม่รู้จบ จึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ งานในช่วงนั้นของอาจารย์แหววจึงต้องออกมากระตุ้นเตือนผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจและตระหนักถึงความหมายที่แท้จริงของเรื่องสัญชาติมากยิ่งขึ้น
“รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างรัฐไทยสมัยใหม่บนแนวคิดสากลนิยม กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยก็เป็นไปในทิศทางของสากลนิยม เพียงแต่อาจจะล้าสมัย เพราะไม่ถูกพัฒนาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งคำเตือนที่ต้องทำอย่างมากคือ ประเทศไทยยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่คนในสังคมไทยจะยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสัญชาติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งคนสอนกฎหมายระหว่างประเทศ จะเฉยๆ ต่อการพูดหรือเขียนผิดๆ ก็เป็นไปไม่ได้”
เพราะฉะนั้น ในช่วง 10 ปีแรกของการทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย อาจารย์แหววจึงพยายามทำให้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่การเปิดห้องเรียนกฎหมายสัญชาติให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ผู้มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ลงพื้นที่ไปพูดคุย สำรวจปัญหา เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ตลอดจนทำวิจัยและเสนอแนะไปยังรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น
เพราะถ้าปล่อยให้คิดแบบขัดต่อสากลนิยมไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกลัดกระดุมผิดเม็ด คงทำอะไรต่อไปได้ลำบาก และนั่นเองที่นำมาสู่การขับเคลื่อนงานของอาจารย์แหววและลูกศิษย์ในนาม ‘บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์’ จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ชีวิตของชาวบ้านในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,243 คน มีเหตุให้ต้องพลิกผัน หลังจากชื่อของพวกเขาถูกเพิกถอนออกจาก ทร.14 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลคนอยู่ถาวรในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ย้ายไปอยู่ ทร.13 ซึ่งรัฐไทยใช้บันทึกคนที่มีสิทธิอาศัยไม่ถาวรในทะเบียนราษฎรของตน และออกบัตรประจำตัวราษฎรไทยประเภท ‘ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า’ ให้ถือเพื่อแสดงสถานะคนต่างด้าวของประเทศไทย แทนบัตรประชาชน ซึ่งแสดงสถานะคนถือสัญชาติไทย
โดยเดิมทีชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นคนที่ไม่ได้ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎร เป็นคนตกหล่นจากทะเบียนราษฎร และถูกทางการเข้าใจผิดว่าเป็นคนพลัดถิ่นสัญชาติเมียนมา แต่ภายหลังชาวบ้านได้ถวายฎีกา ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงมีรับสั่งให้ พลากร สุวรรณรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเวลานั้น ไปตรวจสอบจนพบว่า คนเหล่านี้เป็นคนไทใหญ่ดั้งเดิมของประเทศไทย แต่ไปทำงานตามชายแดนจึงถูกเข้าใจผิด และนำมาสู่การเพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนราษฎรเมื่อปี 2542
แต่หลังจากนั้น 3 ปี อำเภอได้รับแจ้งว่ามีการสวมบัตรประชาชนโดยมิชอบ จึงมีการนำชื่อประชาชนที่เพิ่มเข้าไปในทะเบียนราษฎรมาพิจารณา แล้วก็ลงมติไปเลยว่า บุคคลทั้งหมดนี้คือ คนพม่าพลัดถิ่น และสั่งเพิกถอนรายการสัญชาติไทยออกทันที โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม และแม้ชาวบ้านจะพยายามโต้แย้งว่า พวกเขาไม่ได้เป็นคนถือสัญชาติพม่า โดยมีญาติพี่น้องเป็นพยาน แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง แถมยังขู่ว่าจะส่งตัวออกนอกประเทศ ทำให้ชาวบ้านต้องรับสภาพเป็นผู้อพยพโดยปริยาย
แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านแม่อายกว่าพันชีวิต ไม่ได้มีเพียงเรื่องสัญชาติเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงด้านอื่นๆ ด้วย อย่างบางคนรับราชการก็ถูกให้ออก เกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก็ถูกบอกเลิกสัญญากู้เงิน นักกีฬาคนพิการที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งกีฬาเยาวชนคนพิการที่สหรัฐอเมริกา ก็ถูกคัดชื่อทิ้ง เพราะทำหนังสือเดินทางไม่ได้
นี่ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์ที่ชาวบ้านถูกจับกุม เพราะเดินทางไปเรียนหนังสือ หรือทำมาหากิน โดยแจ้งข้อหาว่าเป็นพวกเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ความไม่เป็นธรรม และความคับแค้นใจที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจลุกขึ้นสู้ ด้วยการขอคำปรึกษากับ อ.วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล และ อ.สิทธิพร ภู่นริศ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์แหววว่าพอจะมีหนทางจัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
พอดีในช่วงนั้น กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ติดต่อมาทางอาจารย์แหววว่า อยากให้ทุนสนับสนุนในการดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ อาจารย์แหววจึงเชื่อมทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งรับเป็นที่ปรึกษาโครงการ จนเกิดเป็น ‘คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล)’ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ ‘คลินิกกฎหมายแม่อาย’
การทำงานของนักกฎหมายกลุ่มนี้ เน้นการทำงานในเชิงลึก ค้นประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของปัญหาว่า เกิดอะไรขึ้น และจัดกลุ่มประชาชน เพื่อจะได้หาวิธีการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
“ถ้าพูดในเชิงวิชาชีพทั่วไป ก็เหมือนการซ่อมรถ เราต้องรู้ก่อนว่า รถเสียตรงไหน ทำไมถึงไม่วิ่ง ถ้าน้ำมันหมดจะได้เติมน้ำมัน ถ้าล้อรั่ว ก็จะได้อุดล้อ เหมือนกันในเชิงนิติศาสตร์ เราต้องรู้ปัญหาให้ได้ก่อน เพื่อจะได้หาวิธีแก้ไขได้ถูกต้อง”
สำหรับเมืองไทยมีการทำสำมะโนประชากรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยๆ กระจายไปยังหัวเมืองต่างๆ อย่างจังหวัดเชียงราย เริ่มมีการทำสำมะโนครัวและบัตรประชาชนตั้งแต่ปี 2499 แต่ด้วยความที่ชาวบ้านหลายคนอยู่ห่างไกล บ้างก็มองไม่เห็นประโยชน์ ไม่อยากเสียเวลาเดินทางหลายชั่วโมง รวมทั้งมีความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้มีประชาชนที่ตกหล่น ไม่ได้ทำบัตรประชาชนเต็มไปหมด
ต่อมาเมื่อปี 2519 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ว่าการอำเภอแม่อาย ส่งผลให้เอกสารราชการเสียหายเกือบทั้งหมด หากแต่การจัดทำเอกสารใหม่กลับยากกว่าที่คิด เนื่องจากเวลาเดียวกันนั้น ประเทศเพื่อนบ้านเกิดเหตุความวุ่นวาย ผู้คนต่างหนีตายข้ามเขตชายแดนมาอาศัยในฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความสับสน แถมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็มีปัญหา
อย่างคนที่มีบัตรประชาชนอยู่เดิมแล้ว พอบัตรหมดอายุ ขอมาทำบัตรใหม่ ทางอำเภอกลับบอกว่าไม่มีหลักฐานในทะเบียนราษฎร จึงไม่ยอมออกบัตรประชาชนให้ แต่กลับบังคับให้รับบัตรสีชมพู หรือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของเมียนมาแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้นการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดคือ การพิสูจน์สัญชาติให้เห็นว่า พวกเขามีถิ่นฐานรกรากอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ครั้งแรกๆ พวกเขาทำงานเน้นประสานแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไป มีการพิสูจน์ DNA กับญาติพี่น้องที่เป็นคนไทย เป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า วิธีนี้ช่วยเหลือคนได้จำกัด เพราะบางคนก็ไม่สะดวกเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยพายัพ จึงเปลี่ยนมาเป็นเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เจ้าของปัญหาแทน เพื่อให้เขากลายเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็น ‘ทนายความตีนเปล่า’ คอยรับฟัง พูดคุยและแก้ปัญหาแทน โดยคลินิกกฎหมายแม่อายทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการขับเคลื่อนผ่านสื่อมวลชน ถ่ายทอดเรื่องราวแก่ประชาชนว่าปัญหาจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร รวมทั้งยังมีชาวบ้านบางคนเขียนจดหมายเปิดผนึกส่งไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อบอกเล่าความยากลำบากจากการสูญเสียสิทธิในสัญชาติ
“ตอนนั้นเหมือนหลงทาง เพราะเราใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แล้วก็เขียนคำฟ้องคำให้การออกหนังสือพิมพ์ กระทั่งปี 2546 อาจารย์ประเวศ วะสี เรียกพวกเราไป 3 คน มี อาจารย์แหวว มีจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการ สมช. ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ไปพบแล้วก็ให้เงินมาหนึ่งล้านบาท บอกให้ไปทำงานวิจัยเรื่องสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน เอาสื่อมารายล้อมอาจารย์แหววตอนทำงาน โดยมีคุณแจง-ฐิตินบ โกมลนิมิ เป็นคนจัดการ จากนั้นเขาก็เขียนเป็นงานออกมา ซึ่งเขียนและสื่อสารได้ดีกว่า ส่วนตัวเองก็ได้ประโยชน์เพราะทำงานที่สื่อสารออกมา ใช้ภาษาวิชาการน้อยลง แต่เน้นให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น”
ผลจากความร่วมมือของชาวบ้านและนักกฎหมาย รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อย่าง กฤษฎา บุญราช ซึ่งเคยเป็นนายอำเภอแม่อาย มาเบิกความในฐานะพยานฝ่ายชาวบ้านว่า ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้คำสั่งของอำเภอที่เพิกถอนรายการสัญชาติไทยของชาวแม่อายออกจากทะเบียนราษฎรนั้นมิชอบ เมื่อปี 2548 สร้างความดีใจให้แก่ชาวบ้านที่ได้กลับมาใช้ชีวิตดังเดิม เพราะหลายคนก็ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง บางคนก็จากไปก่อน อยู่ไม่ทันความสำเร็จ แต่ก็ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม
แต่แน่นอนถึงจะมีคำพิพากษาออกมาแล้ว แต่ภารกิจของคลินิกแม่อายก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการคลี่คลาย เช่น ก่อนจะนำชื่อกลับทะเบียนราษฎร ทางอำเภอวางเงื่อนไขว่าชาวบ้านต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเป็นรายบุคคล หรือลูกหลานของผู้ที่ถูกเพิกถอนบางคนก็ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามพ่อแม่ เพราะฝ่ายรัฐอ้างว่า ศาลสั่งให้เพิ่มรายชื่อเพียง 1,243 คนเท่านั้น ซึ่งผลก็คือทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะไม่มีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แต่อาจารย์แหววและลูกศิษย์ชาวคลินิกแม่อายก็ไม่ถอย ยังคงเดินหน้าต่อสู้เรื่อยมา ด้วยการเข้าไปตั้งคลินิกกฎหมายในพื้นที่ พร้อมกับพยายามเพิ่มพูนความรู้เรื่องกฎหมายให้แก่ชาวบ้าน จนเกิดเป็นห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย โดยใช้ชุมชนแม่อายเป็นต้นแบบ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เจ้าของปัญหามีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยตัวเอง กระทั่งสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี
สำหรับอาจารย์แหววแล้ว ชัยชนะของชาวบ้านแม่อาย คือบทเรียนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐมากขึ้น แต่ที่มากกว่าคือ การที่อาจารย์แหววได้ตกผลึกการทำงานที่ผ่านมา จากที่เคยเปรียบตัวเองว่าเป็นเสมือนดอกไม้ที่ยังไม่บาน มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อตำแหน่ง ‘ศาสตราจารย์’ แต่ถึงวันนี้ตำแหน่งใดๆ ก็คงไม่มีประโยชน์ หากไม่สามารถใช้กฎหมายเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้
หากคลินิกแพทย์คือ สถานที่รักษาอาการเจ็บไข้จากโรคภัยต่างๆ คลินิกกฎหมายก็คงเปรียบได้กับแหล่งรวมตัวของนักนิติศาสตร์ที่อยากช่วยกันรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบของภาครัฐ
ชื่อของบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2547 โดยอาจารย์แหววบอกว่า ชื่อนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนทั่วไป โดยเฉพาะสื่อมวลชนเรียกขาน แต่ความจริงแล้วที่นี่คือ ห้องทำงานของอาจารย์แหววกับลูกศิษย์ ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนกันมาแล้วหลายรุ่น มีลูกศิษย์ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบันอื่นๆ รวมทั้งเจ้าของปัญหา ผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่สนใจอยากเรียนรู้เพื่อจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลของมนุษย์
อย่างเช่นอาจารย์ชุติ งามอุรุเลิศ ทนายความแห่งสำนักกฎหมายธรรมสติเชียงราย, อาจารย์ปลาทอง-ดร.ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา, อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อาจารย์ต่าย-ปภาวดี สลักเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสิทธิ หรือแม้แต่ อาจารย์ชมพู่-วิกานดา พัติบูรณ์ นักกฎหมายคลินิกอุ้มผาง โรงพยาบาลอุ้มผาง เป็นต้น
“การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคือ งานของคลินิกกฎหมาย ด้วยความที่เราทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย งานของเราคือ การสอนให้นักศึกษาเข้าใจ และรักษาโรคอยุติธรรม พอเขาจบไปแล้ว ก็ไปตั้งโรงเรียนกฎหมาย คลินิกกฎหมาย สำนักงานกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราสอนให้คุณเป็น Lawyer in Action (นักกฎหมายสายปฏิบัติ) ดังนั้นลูกศิษย์อาจารย์แหววต้องลงชุมชน ต้องลงไปหา Law Enforcer หรือผู้รักษาการตามกฎหมาย ให้เขาปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง หากไม่ทำ เราฟ้องคุณนะ”
ครั้งนั้นนอกจากภารกิจที่แม่อาย อาจารย์แหววยังเข้าไปช่วยเหลือ กุ้ง–ยุทธนา ผ่ามวัน นักเรียนวัย 19 ปี จากจังหวัดสกลนครที่สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2547 ได้สำเร็จ แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน เพราะทางอำเภอสว่างแดนดินบันทึกชื่อว่าเขาถือสัญชาติเวียดนาม
หลายคนอาจสงสัยว่า มีคนไร้สัญชาติมากมายเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่เหตุใดกุ้งถึงโดนปฏิเสธ ปัจจัยหลักเป็นเพราะหลังเรียนจบ แพทย์ต้องใช้ทุน ต้องเป็นข้าราชการ แต่พอกุ้งไม่ได้ถือสัญชาติไทย ก็ย่อมเป็นข้าราชการไม่ได้ ทว่าเมื่ออาจารย์แหววมาดูรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน พบว่าเด็กหนุ่มเกิดก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จากบิดามารดาที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ระบุว่า เขามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด
“กุ้งไม่ใช่คนต่างด้าว แต่เขาเป็นเพียงเยาวชนที่โชคร้ายซึ่งถูกราชการเข้าใจว่า เป็นคนต่างด้าวมาตั้งแต่เกิด และด้วยความไม่รู้กฎหมายและความหวาดกลัวของครอบครัว เพราะตนมีเชื้อสายเวียดนาม จึงยอมรับมาโดยตลอดว่า ตนไม่มีสัญชาติไทย”
สิ่งที่อาจารย์แหววและทีมงานทำ คือการปลุกพลังให้กุ้งลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเอง พาเขาไปพูดคุยกับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมที่เคยสงสัยในประเด็นเรื่องสัญชาติ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน จนสุดท้ายกุ้งก็สามารถเข้าเรียนแพทย์ตามที่ตั้งใจ และทำงานเป็นแพทย์ด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาจนถึงปัจจุบัน แต่ที่มากกว่านั้นคือ เหตุการณ์นี้ยังเป็นกรณีศึกษาที่นำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนับพันชีวิต รวมทั้งทางหน่วยงานรัฐก็ใช้เป็นฐานคิดในการจัดการปัญหาเรื่องญวนอพยพที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม
“เรื่องของญวนอพยพ สมช.เข้าไปจัดการนานแล้ว แต่ที่ยังไม่พร้อมคือมหาดไทย อาจารย์แหววมีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่งชื่อ ซีต้า พ่อแม่เป็นเวียดนาม โดยอาม่าอพยพมาอยู่เมืองไทย แต่อากงยังอยู่ที่โฮจิมินห์ ตอนแรกเขาก็จะเอาอากงมาอยู่เมืองไทย แต่ติดปัญหาบางประการ ก็เลยจะพาอาม่าไปเวียดนามแทน แต่อาม่าเป็นคนไร้สัญชาติในทะเบียนราษฎรไทย เราก็เลยถามว่าทำไมไม่แปลงสัญชาติให้เรียบร้อย เขาก็บอกว่านายอำเภอไม่ยอมทำให้ กลายเป็นว่านายอำเภอใหญ่กว่ากฎหมายได้ยังไง ก็เลยไปนอนคิดคืนหนึ่ง
“สุดท้ายก็โทรศัพท์ไปหาพี่ต้อย-วีระวัฒน์ ตันปิชาติ (อดีตผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงกิจการภายใน สมช.) ว่าจะพาอากงมาเมืองไทยดีกว่า เพราะถ้าเอาอาม่าไป ก็จะกลายเป็นคนแก่ 2 คนไปอยู่เวียดนาม แล้วสวัสดิการอะไรก็ไม่ดี พี่ต้อยก็เลยถามว่าจะทำยังไง เราก็เลยเสนอให้ทำ Family VISA (วีซ่าครอบครัว เพื่อโยกย้ายถิ่นฐานถาวร) จากนั้นทาง สมช.ก็มาช่วยประสานให้จนสำเร็จ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อาจารย์แหววเชื่อว่าจะเป็นหนทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ การวางระบบที่ดี ไม่เช่นนั้นก็ต้องวนกลับมาแก้ไขปัญหาเป็นกรณีไปไม่รู้จบ
ในเมื่อปี 2548 อาจารย์แหววได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ช่วยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยมีการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา รวมทั้งจำแนกคนไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อจะได้หาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และจากแผนฯ นี้เองที่กลายเป็นจุดตั้งต้นของการขับเคลื่อนและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หนึ่งในนั้นคือ การทำให้มนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทยได้รับความเป็นธรรม ได้การรับรองสถานะบุคคลในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีสิทธิอันจำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย 5 ประการ ตั้งแต่หนึ่ง-ชุดสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อันได้แก่ สิทธิในสถานะมนุษย์ สิทธิในสถานะคนถือสัญชาติ สิทธิในสถานะคนต่างด้าวถูกกฎหมาย สิทธิในสถานะราษฎร สอง-ชุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ สิทธิในการศึกษาดี สิทธิในสุขภาพดี สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และสิทธิในการเดินทาง สาม-ชุดสิทธิพัฒนาคุณภาพชีวิต อันได้แก่ สิทธิทำงาน สิทธิลงทุน สิทธิถือครองทรัพย์สิน สิทธิในสวัสดิการสังคม และสิทธิทำนิติกรรมสัญญา สี่-ชุดสิทธิในการมีส่วนร่วม ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารกฎหมาย ตุลาการและสุดท้าย ห้า-ชุดสิทธิในความยุติธรรม อันหมายถึง สิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายในรัฐ นอกรัฐ ระหว่างประเทศ ภายในศาล นอกศาล การอนุญาโตตุลาการ
“เดิมทีเวลาเราเจอคนที่ต้องการจะรับรองสิทธิ ก็มักไปตั้งชื่อแปลกๆ ให้เขา เช่น ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งหลายครั้งเขาก็รับไม่ได้กัน เพราะฉะนั้นในปี 2548 เราจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะเลิก Branding (แปะป้าย) เพราะความจริงแล้ว หลายคนก็ไม่ใช่คนสัญชาติเมียนมา ดังนั้นงานของเราก็คือการพาประเทศไทย กลับเข้าสู่หลักนิติศาสตร์ คือต่อให้เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เป็นคนที่หล่นจากทะเบียนราษฎร หรือ Unregistered Person อย่างน้อยเราก็ให้เขาถือบัตรเลข 0 ไว้ก่อน คือทำให้คนทุกคนที่มีความเกาะเกี่ยวหรือกลมกลืนกับประเทศไทย ได้รับเลขประจำตัว 13 ตัว”
ข้อดีของการถือบัตรเลข 0 นอกจากจะเป็นการรับรองสถานะบุคคลแล้ว ผู้ถือยังมีสิทธิเสมือนคนที่ถือสัญชาติไทยเกือบทุกประการ คือ เดินทางได้ แม้จะไม่อิสระทั้ง 100% เพราะหากจะเดินทางข้ามจังหวัดหรือไปต่างประเทศ ต้องขออนุญาตก่อน ซึ่งรัฐก็มีหน้าที่ต้องอนุญาต มีสิทธิทำงานเสมือนคนถือสัญชาติไทย มีสิทธิจดทะเบียนครอบครัว และที่สำคัญคือได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่แตกต่างกัน
“หากเขามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด เราก็ออกบัตรเลข 0 ให้เขาถือไว้ก่อนก็ได้ จากนั้นก็ค่อยมาทำหลักฐานการเกิด ไม่มีสูติบัตรก็ไปเอาพยานบุคคลมารับรอง แต่ถ้ามีสูติบัตร แล้วชื่อผิด ก็ไปพิสูจน์ตัวตนตามสูติบัตร เพราะฉะนั้นเลข 0 จึงถือเป็นการรับรองสถานะบุคคล ตัวตนทางกฎหมาย ทำให้เกิดความเป็นธรรม ดังนั้นทุกวันนี้เหล่าคลินิกต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงพาคนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไปรับบัตรเลข 0 หรือคนที่พลัดไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ก็พากลับมาที่บัตรเลข 0”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาเรื่องการรับรองสถานะบุคคลค่อนข้างซับซ้อน และบ่อยครั้งก็เป็นที่ถกเถียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นบางคนก็เป็นบุคคลที่ไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ไม่มีการรับรองทางทะเบียนราษฎร หรือไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล บางคนเกิดในประเทศไทยก็จริง แต่มีพ่อแม่เป็นกลุ่มไร้รัฐไร้สัญชาติ แล้วก็มีคนที่เกิดนอกประเทศไทย แต่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมาตลอด จนแทบไม่มีความเกี่ยวโยงกับประเทศอื่นเลย ดังนั้นบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ จึงพัฒนาสูตรการทำงาน โดยจัดกลุ่มตามสถานะต่างๆ รวม 11 กลุ่ม เพื่อให้มีแนวทางการบริหารจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบและมีทิศทาง ด้วยหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิ และได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย
อย่างเช่น หม่อง ทองดี ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งอาจารย์แหววกับเหล่าลูกศิษย์ต่างเข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่ต้น โดยพ่อแม่ของหม่องเป็นคนปะโอจากรัฐฉานที่หลบหนีภัยความตายมาอยู่ในเมืองไทย และมาทำงานเป็นคนสวนผลไม้อยู่ที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานอยู่ 2 ปี หม่องก็คลอดในสวนแห่งนั้น
ในเวลานั้นพ่อแม่ของหม่องซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ก็เลยพาหม่องไปขึ้นทะเบียนด้วย ทำให้หม่องได้รับบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วย 00 เหมือนกับพ่อแม่ กล่าวคือ หม่องเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่พลัดไปเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ทั้งที่พ่อแม่เองก็ไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของเมียนมา
ต่อมาเมื่อหม่องเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านห้วยทราย ครูน้อย-วีนัสรินทร์ มีทรัพย์ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงพาหม่องไปขึ้นทะเบียนเลข 0 หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนแทน แต่ที่กลายเป็นประเด็นในหน้าสื่อขึ้นมา ก็เพราะว่ามีการแข่งขันเครื่องบินพับกระดาษ โดยผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏว่าหม่องได้รับรางวัลชนะเลิศ
แต่ปัญหาคือ เขากลับถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างแรกเลยคือ สิทธิในการเดินทาง
“เมื่อปี 2552 มีความพยายามจะขอ Travel Document หรือเอกสารการเดินทาง แต่ตอนนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะให้หม่องไปขอเอกสารจากประเทศเมียนมา ซึ่งทูตก็ยินดีออกให้ แต่หม่องต้องไปขึ้นทะเบียนราษฎรของเมียนมา คนก็เลยด่ากัน เพราะหม่องเป็นผลงานของการศึกษาไทย โดยเฉพาะความรู้เรื่องกลศาสตร์ เมื่อเขาไม่ฟัง พ่อแม่กับตัวแทนของสภาทนายความ คือ คุณนิติธร ล้ำเหลือ ก็เลยไปฟ้องศาล และพอศาลเริ่มไต่สวน นัดแรกทางมหาดไทยก็ยอมแพ้แล้ว และนับแต่นั้น เด็กไร้สัญชาติก็เดินทางไปนู่นมานี่ในประเทศได้ เหมือนที่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกว่า อีกแสนหม่องก็เลยเดินทางได้เหมือนกัน”
และเมื่อไปดูรายละเอียดการเกิดก็พบว่า หม่องเกิดในประเทศไทยแน่นอน มีพยานรู้เห็นเป็นจำนวนมาก รู้แม้กระทั่งชื่อหมอผู้ทำคลอด เพราะฉะนั้นเมื่อตอนที่หม่องมาร้องทุกข์ที่บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ อาจารย์มิว-อัจฉรา สุทธิสุนทรินทร์ เลขานุการในช่วงเวลานั้นของอาจารย์แหววจึงแนะนำให้เขาทำหนังสือรับรองการเกิด หรือการจดทะเบียนการเกิดย้อนหลัง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้หม่องมีเอกสารรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน พ.ศ. 2552 อันนำไปสู่การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยในภายหลัง
แต่หม่องจะยังไม่ได้ถือสัญชาติไทยโดยทันที เนื่องจากตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ระบุถึงการถือสัญชาติไทยของกลุ่มคนที่มีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าวเหมือนกับหม่องว่า จะต้องจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือไม่ก็ต้องเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งหม่องก็ตั้งใจว่าจะเรียนให้จบแล้วไปดำเนินการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย
แต่พอดีในช่วงต้นปี 2561 พ่อของเขาประสบอุบัติเหตุ หม่องจึงอยากถือสัญชาติไทยให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้ทำงานได้คล่องตัวและไม่เป็นภาระของพ่อแม่ จึงเข้ามาขอคำปรึกษากับอาจารย์แหววเรื่องนี้อีกครั้ง อาจารย์แนะนำให้หม่องหันมาใช้ช่องทางของการเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศแทน โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้การรับรอง
ประจวบกับในเวลานั้น อาจารย์วีนัส สีสุข ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ในเวลานั้น ซึ่งเคยร่วมงานกับอาจารย์แหววตั้งแต่สมัยศูนย์นิติธรรมศาสตร์ ได้สอบถามถึงกรณีของหม่องว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงยังไม่เรียบร้อย เพราะเวลาใกล้เคียงกัน ก็มีกรณีของทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยรับรองการถือสัญชาติไทยให้แก่โค้ชและสมาชิกอีก 3 คนซึ่งมีสถานะไร้สัญชาติ และถ้าจะว่าไปแล้วกรณีของหม่องยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติงานหลายอย่าง รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมฟุตบอลด้วย
กระทั่งในเดือนตุลาคม 2561 กระทรวงมหาดไทยจึงรับรองคำร้องดังกล่าว ส่งผลให้หม่องกลายเป็นผู้ถือสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และยังเป็นต้นแบบสำคัญที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ทำคุณประโยชน์ได้รับการรับรองสัญชาติไทยรวดเร็วมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้ ทางทูตเมียนมามาคุยกับอาจารย์แหววที่ธรรมศาสตร์ว่า หากรัฐบาลไทยไม่ทำอะไร เขาก็รับเดินเรื่องให้ทั้งครอบครัวถือสัญชาติเมียนมา พ่อของหม่องก็เลยถามว่าจะเอายังไงดี อาจารย์แหววก็เลยบอกให้พ่อยุ้นกับแม่ม้อยไปขึ้นทะเบียนแรงงานแล้วก็พิสูจน์สัญชาติเมียนมาเถอะ ส่วนหม่องเลือกเอาว่าจะถือสัญชาติเมียนมาตามพ่อแม่ หรือไร้สัญชาติในประเทศไทย แล้วค่อยมาทำเรื่องภายหลัง ซึ่งหม่องบอกว่า เขาไม่มีเพื่อนในเมียนมาเลย เพราะฉะนั้นอยู่ประเทศไทยแล้วกัน ซึ่งพ่อแม่ก็ตามใจ
“แล้วนอกจากนี้ก็มีน้องของหม่องชื่อเหมียว ถือสูตรแบบเดียวกัน คือไม่ตามพ่อแม่ไปถือสัญชาติเมียนมา แต่เหมียวบอกว่าถ้าจบปริญญาตรีก็จะถือสัญชาติไทยเหมือนกัน เพราะเหมียวไม่ได้ทำคุณประโยชน์ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ Socialization (ความกลมกลืนกับสังคม) ที่หม่องได้รับจากการเกิด ส่งผลให้ครอบครัวนี้มั่นคงยิ่งขึ้น”
สำหรับอาจารย์แหววแล้ว เรื่องราวของหม่องคือความสุขใจ เพราะเบื้องหลังของความสำเร็จมาจากความร่วมไม้ร่วมมือของหมู่มวลมิตรที่ช่วยกันผลักดัน และทำให้ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณชนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จนนำมาสู่การสร้างความเข้าใจ และลดอคติเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้เกิดในใจของผู้คนอีกมากมาย สำหรับคนที่ทำงานในเรื่องนี้ น้องหม่องในอดีต หรือครูพี่หม่องในปัจจุบัน คือ ตำราเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์ในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกประเทศ ถ้าคนคนนั้น มีจุดเกาะเกี่ยว หรือมีความกลมกลืนกับรัฐ รัฐก็ต้องมีหน้าที่รับรองสัญชาติ ต้องดูแลมนุษย์ของตัวเอง
ตลอดเส้นทางการขับเคลื่อนของอาจารย์แหววและบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ ได้ค่อยๆ เพาะเมล็ดแนวคิดการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสถานะบุคคลมากมาย รวมทั้งยังปลุกพลังให้ใครหลายคนที่ไม่ได้เรียนจบกฎหมาย แต่ก็ลุกขึ้นมาเป็นนักกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง และคนรอบข้าง
อย่างที่ผ่านมามีหลายโครงการที่อาจารย์แหววเข้าไปมีส่วนจุดประกายตั้งแต่ต้น เช่น ‘สี่หมอชายแดนตาก’ ซึ่งเริ่มแรกเกิดขึ้นจากแนวคิดอยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อุ้มผาง แม่ระมาด ท่าสองยาง และพบพระ ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติได้มีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ได้อย่างเท่าเทียม
เพราะในช่วงเริ่มต้นที่ประเทศไทยใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถใช้บริการกับคนทุกคนได้ตามหลัก Health for All จึงเน้นแต่เฉพาะคนที่ถือสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรเท่านั้น แต่ความจริงยังมีคนอีกมากมาย โดยเฉพาะชาวเขาที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร หรือแม้แต่คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยมายาวนานหลายสิบปี จนแทบจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ไม่ต่างกัน
ในช่วงนั้น อาจารย์แหวว ทำวิจัยว่าประเทศไทยต้องรับรองสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับตนอย่างไร และการปฏิเสธหลักประกันสุขภาพแก่มนุษย์ที่ไม่ถือสัญชาติไทยเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งพบว่าเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยตั้งแต่ปี 2491 และหากกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลไทยเลือกดูแลเฉพาะคนถือสัญชาติก็เท่ากับทำผิดหลักสากลนี้ด้วย
กระทั่ง หมอก้อง–ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าควรจะนำหลัก Health for All กลับคืนมา ทางสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย จึงให้ทุนสนับสนุนอาจารย์แหววกับอาจารย์ด๋าว–ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรในขณะนั้น ทำวิจัยต่อ จนเกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ
ต่อมาในปี 2552 มีการอบรมเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ซึ่งมีแพทย์รุ่นใหม่เข้ามารวมตัว หนึ่งในนั้นคือ หมอตุ่ย-นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ตกหล่นจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจำนวนมาก โดยอาจารย์แหววได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้วย จึงเกิดการพูดคุยในกลุ่มเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม
สำหรับโรงพยาบาลอุ้มผาง ถือเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองนับพันกิโลเมตร อยู่ใกล้ชายแดนเมียนมา ประชากรค่อนข้างหลากหลาย บางคนถือสัญชาติไทย บางคนถือสัญชาติเมียนมา และอีกไม่น้อยเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะอยู่ห่างไกล รายชื่อจึงตกหล่น บ้างก็เป็นคนพิการที่พ่อแม่ไม่ได้มาแจ้งเกิด แต่ส่วนใหญ่ล้วนแต่มีฐานะยากจน ปัญหาคือเมื่อคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยเจ็บป่วยขึ้นมา ก็เท่ากับหมดโอกาสที่จะได้รับบริการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปด้วย
“คุณหมอตุ่ยอยากให้เกิดคลินิกกฎหมายแบบแม่อายในพื้นที่ชายแดน เพราะเวลานั้นถ้าคนของเขาไม่ได้บัตรทองก็จะไม่มีงบประมาณในการดูแล สุดท้ายก็เกิดข้อตกลงว่า หมอก้องจะเสนอ ครม. ให้ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) มาดูแลกลุ่ม Non-Thai Population แต่ตอนนั้นกลายเป็นว่างบประมาณไปยังกระทรวงสาธารณสุข จึงเกิดการตั้งหน่วยงานชื่อกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ทำให้มนุษย์ทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะคนรอบโรงพยาบาลของหมอตุ่ย ซึ่งก่อนหน้านั้นแทบไม่ได้รับจาก สปสช. เลย แต่ก็มาได้เงินกองเศรษฐกิจสุขภาพฯ หรือที่เรียกว่า ท.99 (สิทธิรักษาประกันสุขภาพสำหรับคนมีปัญหาทางสถานะและสิทธิ)
“ขณะเดียวกัน ตุ่ยก็จะทำคลินิกกฎหมายให้ได้ แต่ก็ไม่มีนักวิชาชีพไปเลย ก็เลยให้อาจารย์ด๋าว กับแมว (จันทราภา นนทวาสี จินดาทอง) ซึ่งเมื่อก่อนทำงานกับครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ ไปช่วยกันเซ็ตระบบ งานก็ไม่มีอะไร จดทะเบียนคนอยู่ คนเกิด คนตาย ขว้างคนรอบโรงพยาบาลใส่เข้าไปในทะเบียนราษฎร”
หลังจากนั้นอาจารย์แหววกับอาจารย์ด๋าว รวมถึงทีมงานนักกฎหมายก็ลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจประชากรว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จนพบว่า ชาวบ้านบางคนไม่มีเอกสารใดๆ ติดตัวเลย เพราะไม่ได้แจ้งเกิดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน บางคนเป็นบุตรของคนที่กำลังพิสูจน์สัญชาติไทยอยู่ ทำให้บุตรถูกบันทึกว่าเป็นคนต่างด้าว บางคนเกิดนอกประเทศ แต่โยกย้ายมาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว จากนั้นก็ทำพิสูจน์สถานะบุคคล จัดทำระบบเพื่อให้กระบวนการแจ้งเกิดครบขั้นตอน จนปัญหาเริ่มคลี่คลาย
เพราะผู้ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วก็สามารถรับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพได้ทันที ส่วนคนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ หรือกลุ่มที่ถือบัตร 0 ก็จะส่งรายชื่อไปขึ้นทะเบียน ท.99 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทางคลินิกกฎหมายก็ช่วยพาไปทำวีซ่าให้ถูกต้อง ขณะที่โรงพยาบาลก็พยายามหาวิธีแบ่งเบาค่าใช้จ่าย เช่น การตั้งกองทุนช่วยเหลือ การรับบริจาคยาเหลือ จนกระทั่งผู้ยากไร้ทุกคนสามารถเข้าถึงกระบวนการรักษาได้อย่างแท้จริง แม้แต่ชาวบ้านที่อยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข ก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอุ้มผางเช่นเดียวกัน
จากนั้นอาจารย์แหววและคุณหมอตุ่ยก็เริ่มต่อยอดโครงการไปยังโรงพยาบาลชายแดนอีก 3 แห่งในปี 2557 จนเกิดเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนทางสุขภาพ ที่สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันได้จากการที่ทารกเกิดใหม่ในพื้นที่แทบไม่หลงเหลือบุคคลที่มีสถานะคนไร้รัฐเลย
“พวกหมอเป็นพวกเอาจริงเหมือนอาจารย์แหวว อย่างหมอหนึ่ง (นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์) ที่ท่าสองยาง ไปหาตอนแรกบอกว่าไม่ทำ ไม่ชอบกฎหมาย แต่ผ่านไป 3-4 วัน โทรศัพท์มาบอกว่า ลูกน้องอยากให้ทำ เพราะจะได้ช่วยชาวบ้าน ซึ่งสิ่งที่เราทำคือ เอาหลักกฎหมายสากลไปสอน และถ้ากฎหมายไทยยังไม่รองรับกฎหมายสากล เราก็แค่สร้างกฎหมายไทยให้รองรับ”
นอกจากการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านแล้ว การสร้างองค์ความรู้แก่คนทำงานก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยอาจารย์แหววสวมบทบาทเป็นครูสอนวิชากฎหมายสัญชาติให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากร ทำให้ทุกคนเข้าถึงรากเหง้าของปัญหาและสาเหตุของโรคไร้รัฐอย่างแท้จริง หรือแม้แต่หมออนามัยที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ อาจารย์แหววก็ยังเข้าไปสอน จนพวกเขาได้กลายเป็นกำลังหลักในการค้นหาและนำบุคคลไปตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์สัญชาติ
เพราะฉะนั้นโครงการสี่หมอชายแดนตาก จึงไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องสัญชาติกับสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่บุคคลที่เคยถูกสังคมมองว่า ด้อยโอกาส ให้สามารถดำรงชีวิต เรียนหนังสือ ทำงาน เดินทางได้เหมือนกับคนทั่วไปในสังคม
แต่ที่มากกว่านั้น โมเดลนี้ยังผลิดอกออกใบ กลายเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ที่เผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ทั้งโรงพยาบาลในจังหวัดสตูล หรือโรงพยาบาลจะนะและโรงพยาบาลนาทวี ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีชาวเลพื้นถิ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแค่นั้นผู้ใหญ่ในวงการสาธารณสุขเองก็อยากผลักดันแนวคิดเรื่องการตั้งคลินิกกฎหมายไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
“คลินิกกฎหมายเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย จนวันนี้พวกส่วนราชการอย่างโรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขก็มาตั้งคลินิกกฎหมายด้วย แม้แต่กรมการปกครอง ศูนย์ดำรงธรรมก็พยายามตั้งเหมือนกัน ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่นำไปสู่ความเป็นธรรม”
ตลอดการทำงานอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี อาจารย์แหววได้บ่มเพาะและสร้างนักกฎหมายที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนไว้มากมาย ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายอยากช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าภูมิใจในชีวิตของครูคนหนึ่ง
และถึงแม้อายุของอาจารย์แหววจะล่วงเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่ความทุ่มเทและความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับสังคมไทยก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ในปี 2566 อาจารย์จึงเริ่มต้นโครงการที่ชื่อ ‘แว่นขยาย’ โดยเข้าไปสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้มนุษย์ที่ถูกลิดรอนสิทธิได้รับความยุติธรรม เช่น กลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และกลายเป็นคนเสมือนไร้สัญชาติในต่างแดน
“มีคนไทยที่ถูกหลอกไปขายในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวเขา ทั้งจากแม่สอด ตาก เชียงราย อย่างรายหนึ่งชื่อมาลี ชิบะ เป็นชาวเขาดั้งเดิมซึ่งตามหลักฐานที่สืบค้นขึ้นมาได้คือ เป็นคนสัญชาติไทยโดยพลัน ไม่ต้องมีเงื่อนไข แล้วก็ถูกหลอกไปขายที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีชายญี่ปุ่นคนหนึ่งช่วยออกมา แล้วก็มาตั้งครอบครัวกัน แล้วก็มาอยู่ที่ญี่ปุ่นแบบ Undocumented Person (ไม่มีเอกสารรับรอง) แล้ว อาจารย์เตือน-บงกช นภาอัมพร ลูกศิษย์ของอาจารย์แหววที่กำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มาชวนให้อาจารย์แหววทำเรื่องคนไทยไร้สัญชาติในญี่ปุ่น และชวนกันทำเรื่องคุณมาลี ชิบะเป็นเรื่องแรก ตอนนี้ สถานกงสุลไทยในญี่ปุ่นก็นับหนึ่งแล้ว มารอดูกันว่า จะเสร็จเมื่อไหร่
“เช่นเดียวกับคลินิกกฎหมายเพื่อคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 เมื่อ อาจารย์พัท-ดร.พัทยา เรือนแก้ว มาร้องขอความช่วยเหลือ ตอนนี้คลินิกกฎหมายพัทยา เรือนแก้ว ในบีเลอเฟลเยอรมัน ก็ทำงานกับธรรมศาสตร์มา 12 ปีแล้ว แต่ปัญหาก็ยังมากมายและร้ายแรง งานคลินิกกฎหมายคงต้องพัฒนาให้ดีมากขึ้นเพื่อคนไทยในต่างประเทศ”
ตลอดระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องหลายปี สิ่งหนึ่งที่อาจารย์พบคือ แนวคิดในการรับรองสัญชาติไทยมีความเป็นสากลมาตั้งแต่สมัยในหลวง รัชกาลที่ 5 แต่ต่อมาถูกทำให้บิดเบี้ยวไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง จนก่อให้เกิดปัญหาขึ้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่ต้องขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ และทำให้ทุกคนได้รับสิทธิอันจำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ทำให้มีการปฏิรูปและปรับแก้กฎหมายให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จนสถานการณ์ต่างๆ ที่เคยเป็นปัญหาเริ่มหมดไป
กล่าวคือ ถ้าเปรียบปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นโรคชนิดหนึ่ง ตอนนี้ก็ต้องถือว่า ค้นพบยาและวิธีการรักษาที่แทบจะควบคุมและบรรเทาอาการของโรคนี้ได้แล้ว แต่หากในอนาคตมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายที่ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นมาอีก ก็คงเปรียบได้กับการเกิด ‘โรคอุบัติใหม่’ ซึ่งนักนิติศาสตร์ก็ต้องทำหน้าที่เดียวกับแพทย์ คือการค้นหาแนวทางการรักษาโรคที่เกิดขึ้นใหม่นี้ให้จงได้
“อาจารย์แหววบอกทุกคนโดยเฉพาะลูกศิษย์ว่า กฎหมายของรัฐไทยมีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะยอมรับและดูแลมนุษย์ทุกคนที่มี ‘จุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐไทย’ คือ ‘มีความกลมกลืนกับประเทศไทย’ ไม่ว่าคนดังกล่าวจะเกิดในหรือนอกประเทศไทย หรือต่อให้ไม่รู้ถึงสถานที่เกิดของตนก็ตาม และการมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนก็เป็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่จะสำเร็จได้มากขึ้นหากมีแนวร่วมจากคนในทุกภาคส่วนของสังคม
“และหากจะมีปัญหาที่อยากให้มีการแก้ไขที่ดียิ่งขึ้น ก็คงเป็นการรับรองสัญชาติไทยให้กับเด็กหรืออดีตเด็กที่เกิดในเมืองไทยจากพ่อแม่ไร้สัญชาติ โดยไม่กำหนดขั้นตอนที่ซับซ้อนและเอื้อทุจริต ตลอดจนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้เด็กและอดีตเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่จนกลมกลืนกับประเทศไทยแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบตามกฎหมายอีกต่อไป
“เพราะการจัดการเรื่องนี้คือแนวทางในการอุดช่องโหว่เรื่องประชากรที่มีอัตราการเกิดน้อยลง และอาจนำไปสู่การขาดคนวัยทำงานในอีก 20-30 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งความจริงแล้ว ข้อเสนอนี้ได้รับการผลักดันจากประชาคมวิชาการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2548 และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติก็พยายามผลักดันให้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างระบบประสิทธิภาพขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ อาจารย์แหววก็คงจากโลกนี้ไปอย่างสบายใจ เพราะปัญหาความไร้สัญชาติสำหรับคนที่กลมกลืนกับสังคมไทยที่มีมายาวนานได้สิ้นสุดลง”
ทั้งหมดนี้ถือเป็นเสี้ยวหนึ่งของเส้นทางการทำงานของอาจารย์แหววกับ ‘บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์’ ห้องเรียนกฎหมายที่ช่วยคลี่คลายปัญหาสถานะบุคคลให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติ สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจนนำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาสู่ทุกคนอย่างเท่าเทียมอีกครั้ง
ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (SDGs ข้อที่ 10), ประเด็นส่งเสริมสังคมที่สงบสุข และครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบและทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ (SDGs ข้อที่ 16) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)
อดีตนักกลยุทธ์โฆษณามือฉมังของเมืองไทย แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การบุกเบิก ‘วิชาใจ’ ธรรมง่ายๆ ที่ทุกคนเสพได้
สถาปนิก ผู้ทำงานเรื่องพื้นที่สาธารณะมายาวนาน และสร้างโมเดลใหม่อย่าง we park ด้วยการหาพื้นที่รกร้างมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับทุกคน
เครือข่ายอนุรักษ์และดูแลแม่น้ำบางปะกง เพื่อให้เป็นสายน้ำที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติยังคงอยู่ต่อไป เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ และเข้าใจถึงปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง
เจ้าของบาร์แจ๊ซ ผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั้งดนตรี สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นดินแดนที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
โลกดนตรี ตำนานรายการคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ที่ศิลปินยุค 1970-2000 อยากขึ้นแสดงมากที่สุด เพราะใครที่มีโอกาสได้ขึ้นเวทีนี้ แสดงว่าดังแล้ว
ห้องทดลองกฎหมายของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ที่ทำงานเรื่องการพิสูจน์สิทธิเรื่องสัญชาติ เพื่อให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากรักษาเสน่ห์ของพื้นที่อารีย์ พร้อมกับรักษาชุมชนที่ยั่งยืนด้วยการใช้กุศโลบายที่ดึงดูดให้คนทุกมีส่วนร่วม
นักออกแบบแดนปัตตานีที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม เพื่อเปลี่ยนภาพจำๆ เดิมของชายแดนใต้ ไปสู่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์
จากครูอาสาที่มาสอนดนตรีในชุมชนคลองเตย สู่การต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ที่จะเติบโตอย่างงดงาม
แรงบันดาลใจของพระอีสานผู้ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ สู่การสร้างโอกาสทางการศึกษาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO. ALL RIGHTS RESERVED.