ศรีแสงธรรมโมเดล : จากพระผู้สร้างตำบลที่อุดมไปด้วย ‘ช่าง’ สู่สังคมที่ยั่งยืนจากพลังแสงอาทิตย์

<< แชร์บทความนี้

ครั้งหนึ่ง ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ด้วยสภาพดินย่ำแย่ ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านละแวกนี้มีฐานะยากจน คนหนุ่มสาวหลายคนพอโตขึ้นจึงเลือกไปแสวงหาโชคในเมืองใหญ่ จนไม่ค่อยเหลือคนทำงาน นักเรียนหลายคนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ บ้างหลงผิดตกเป็นทาสของอบายมุข

แต่ท่ามกลางความขาดแคลนทั้งโอกาส เงินทอง และทรัพยากร พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ) แห่งวัดป่าศรีแสงธรรม กลับไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัด

ท่านพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำโซลาร์เซลล์เข้ามาเป็นเครื่องมือพัฒนาการศึกษาผ่านโรงเรียนศรีแสงธรรม สร้างโมเดลประหยัดพลังงาน ยืนยันได้จากค่าไฟที่เคยสูงเกือบหมื่นบาท ลดลงจนเหลือเพียง 40 บาท จนโรงเรียนวัดแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ รวมทั้งยังเกิดการต่อยอดไปสู่โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และชุมชนยากจนอีกมากมาย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้เกิดขึ้นในเมืองไทย

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การที่เยาวชนในพื้นที่หลายคนได้พลิกชีวิต บางคนเรียนจบปริญญาตรี กลายมาเป็นวิศวกรฝีมือเยี่ยม ที่ช่วยฟื้นฟูบ้านเกิดที่อัตคัด มาสู่เมืองต้นแบบที่ใครๆ ก็อยากเดินตาม

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงชักชวนพระอาจารย์นพพรมาร่วมพูดถึงเส้นทางชีวิต แรงบันดาลใจ และความฝันในการผลักดัน ศรีแสงธรรมโมเดล ให้เป็นแนวทางสร้างสังคมสู่ความยั่งยืน

เส้นทางที่ไม่คาดฝัน

พระอาจารย์นพพรไม่เคยคิดที่จะบวช ยิ่งตำแหน่งเจ้าอาวาสถือว่าไกลเกินฝัน

วัยเด็กของพระอาจารย์นั้นเต็มไปด้วยความลำบาก เพราะพ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครส่งเสียให้เรียนต่อ จึงต้องโบกมือลาจากโรงเรียน ทั้งที่อีกแค่ปีเดียวก็จะสำเร็จได้วุฒิ ม.6

เวลานั้น พระอาจารย์เสียใจถึงขั้นนอนร้องไห้ บางคืนฝันไปว่าได้เรียนต่อ

แต่เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป หลังจากนั้นท่านจึงตัดสินใจย้ายจากศรีสะเกษเข้ามาแสวงหาโชคในเมืองกรุง เริ่มทำงานเป็นช่างทำสีรถยนต์ ถึงจะรู้ตัวแต่ต้นว่าไม่ชอบงานนี้ แต่ก็ต้องอดทนทำ จนวันหนึ่งไปเห็นช่างปั้นพระพุทธรูป คิดว่าน่าจะเหมาะกับงานนี้มากกว่า จึงไปสมัครงานที่โรงหล่อพระ และมีโอกาสเรียนรู้งานหลายอย่าง อาทิ งานเชื่อมเหล็ก กระทั่งภายหลังจึงลาออกมาเป็นช่างรับเหมางานเชื่อมเต็มตัว

แม้จะเริ่มตั้งตัวได้ มีเงินเลี้ยงปากท้อง ส่งกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แต่สิ่งที่ขาดหายไปกลับเป็นความสุขของชีวิต เวลานั้นเขาเต็มไปด้วยความสับสน คิดว่าตัวเองเป็นคนไร้แก่นสาร จนเริ่มทนไม่ไหว ในที่สุดจึงตัดสินใจเดินทางไปหาหลวงอา ซึ่งบวชอยู่ที่วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด หวังจะคลายปม กระทั่งได้ฟังธรรมเทศนาจากพระเทพวิสุทธิมงคล (ศรี มหาวีโร) เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงเกิดความเลื่อมใส และตัดสินใจขออุปสมบทในวัย 22 ปี

“ตอนนั้นไม่คิดที่จะบวชยาว ตั้งใจจะบวชเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ และอีกอย่างคืออยากศึกษาความเป็นอยู่ของพระ เพราะสงสัยว่าเรามีเงินทำไมถึงไม่มีความสุข แล้วพระไม่มีเงินจะไม่ทุกข์มากกว่าเหรอ แต่พอเข้ามาแล้วถึงรู้ว่า ความสุขไม่ใช่เงิน อยู่แบบไม่มีอะไรเลยก็ยังไม่ตาย ไม่เห็นเป็นห่วงด้วย และพอศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ จึงพบว่ายังมีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะมาก จึงลืมวันลืมคืน และไม่คิดว่าจะสึกหรือไม่สึกอีกเลย”

ช่วงที่บวชเรียนใหม่ๆ พระอาจารย์ไม่เพียงสั่งสมความรู้จากการอ่านตำรา แต่ยังมีโอกาสได้ออกธุดงค์ รวมทั้งติดตามพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) มาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ทำโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

กระทั่งเมื่อปี 2546 หลวงปู่ศรีเรียกตัวกลับร้อยเอ็ด แล้วมอบหมายภารกิจสำคัญให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดป่าศรีแสงธรรม ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ตอนนั้นอาตมารู้แค่ว่า มีญาติโยมนำที่ดินมาถวายหลวงปู่ให้สร้างวัด แต่ไม่มีเจ้าอาวาส หลวงปู่เลยมาหาอาสาสมัคร แต่ไม่มีใครอยากไป เพราะเป็นวัดป่า อยู่ไกล ค่อนข้างลำบาก สุดท้ายท่านเลยชี้ว่าให้รูปนี้ไป ทั้งที่ตอนนั้นเพิ่งบวชเรียนได้เพียง 6 พรรษา และยังมีพระที่อาวุโสกว่าเราอีกหลายรูป

แต่ถึงจะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน พระอาจารย์ก็ไม่อิดออด เดินทางข้ามจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ เพราะอย่างน้อยถือเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้เป็นอาจารย์

เวลานั้นวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาร้าง ไม่มีต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว ส่วนสภาพของตำบลห้วยยาง ที่ตั้งของวัดยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความแห้งแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ผล ประชากรส่วนใหญ่มีแต่เด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากคนหนุ่มสาววัยทำงานต่างเข้าไปอยู่เมืองกรุง แถมเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บ้างมีปัญหาท้องก่อนวัยอันควร และอีกไม่น้อยที่ติดยาเสพติด

ทว่าถึงทุกอย่างจะอยู่ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ แต่พระอาจารย์ยังคงเดินหน้าพัฒนาไม่หยุด ทั้งขุดสระ ทำฝายชะลอน้ำ ทดลองทำปุ๋ย ไบโอดีเซล หากล้าไม้พื้นเมืองมาปลูก ด้วยหวังจะใช้เป็นสนามทดลองให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ และปรับใช้กับไร่นาของตัวเอง จะได้มีผลผลิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทิ้งไร่นาไปทำงานในเมือง แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเท่าที่ควร แถมบางคนยังมองว่าท่านเพี้ยนหรือเปล่า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพว่าทำไปแล้วจะดีอย่างไร

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการศึกษา เวลานั้นท่านได้ตั้งสถานีวิทยุชุมชนเพื่อหาทุนการศึกษาให้เด็กๆ หวังให้เป็นกำลังในการพัฒนาชาติบ้านเมืองในภายภาคหน้า แต่หลังจากทำไปได้ระยะหนึ่ง ท่านจึงกลับมาตกผลึกว่า วิธีนี้ช่วยเด็กได้ไม่กี่คน ควรจะต่อยอดไปสู่สิ่งที่ยั่งยืนกว่า

“อาตมานึกถึงปรัชญาของคนอีสานที่ว่า หมกปลาแดกไปแลกช้าง คือนำเงินส่วนน้อยของตนไปแลกเอาเงินส่วนใหญ่เพื่อนำมาพัฒนาคนในพื้นที่ เพราะทุนการศึกษาอย่างมากเราก็ให้เด็กได้ปีละไม่กี่คน สู้เอาเงินก้อนนั้นมาพัฒนาคนในชุมชนดีกว่า จะได้มีความรู้เป็นใบเบิกทางไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตัว เพราะถ้าคนในชุมชนมีคุณภาพ สังคมก็มีคุณภาพไปด้วย”

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ โรงเรียนศรีแสงธรรม สถาบันการศึกษาต้นแบบที่ท่านใช้ทดลอง เรียนรู้ และสร้างโมเดลดีๆ ทั้งเรื่องพลังงาน การศึกษา เกษตรกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย

ต่อยอดสู่โรงเรียนเสียดายแดด

จากฝันร้ายที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน กลายเป็นแรงผลักดันให้พระหนุ่มอยากยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็กๆ ไม่ให้ตกอยู่ในชะตากรรมเหมือนตัวเอง

โรงเรียนศรีแสงธรรม เกิดจากการทอดผ้าป่าสามัคคี เมื่อปี 2553 โดยครั้งนั้นได้เงินมาประมาณ 2.4 ล้านบาท พระอาจารย์จึงแบ่งพื้นที่ของวัดที่ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นจำนวน 14 ไร่ มาสร้างเป็นอาคารเรียน อาคารอำนวยการ และโรงอาหาร แล้วเปิดรับนักเรียนชั้น ม.1 กับ ม.4 เข้าศึกษา

“เราเริ่มต้นจากติดลบ ทุกคนปรามาสหมดเลย เพราะเราไปคัดครูที่จบวิทยาศาสตร์ จบศิลปศาสตร์มาสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ จ้างมาเองเลย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จนมีคนตั้งคำถามว่าสอนกันยังไง หาว่าเราเปิดโรงเรียนเถื่อน กล่าวหาโดยไม่เคยเดินเข้ามาดู บางคนพูดรุนแรงถึงขั้นว่าเราจะทำสถานที่ให้เด็กมาเกี้ยวพาราสีกัน แต่อาตมาไม่สนใจ เพราะถือคติ ว่า เราไม่ควรไล่ตีหมาทุกตัวที่เห่าตามรายทาง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึงจุดหมาย ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำไปเรื่อยๆ”

ปีการศึกษาแรก โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนประมาณ 100 คน กับครูอีกราว 10 คน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือทุกอย่างฟรีหมด ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอาหารกลางวัน รวมทั้งมีบริการรถรับส่งอีกด้วย ทั้งหมดเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้เด็กมากที่สุด แม้จะขาดทุนเดือนละ 40,000 บาทก็ตาม

ต่อมาเมื่อนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้น อาคารไม่เพียงพอ พระอาจารย์จึงคิดต่อว่าจะทำอย่างไรดี ครั้งแรกก็นึกถึงบ้านไม้ไผ่ที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา แต่หญ้าคานั้นผุเร็วมาก ไม้ไผ่ก็รักษายาก ท่านจึงทำหนังสือขอรับการสนับสนุนทุนจากบริษัทห้างร้านต่างๆ รวมแล้ว 23 ฉบับ แต่ไม่มีแห่งใดตอบกลับมาเลย ทำให้พระอาจารย์นึกถึงสมัยที่อยู่กับหลวงปู่ศรี เคยปั้นอิฐ ปั้นดินมาเป็นกำแพง ดังนั้นถ้านำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้สอนนักเรียนก็คงจะดี จึงต่อยอดมาสู่การสร้างบ้านดิน โดยมีนักเรียนและญาติพี่น้องของพระอาจารย์มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ จนเกิดเป็นบ้านดินต้นแบบที่ทุกคนสามารถทดลองสร้างได้ด้วยตัวเอง

ทว่าต้องยอมรับว่า แม้บ้านดินจะสร้างง่าย ประหยัด แต่ก็ไม่แข็งแรงพอ ดังนั้นเมื่อปริมาณนักเรียนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พระอาจารย์จึงตัดสินใจสร้างอาคารคอนกรีต 4 ชั้น โดยได้รับการอนุเคราะห์แบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนงบประมาณนั้น ท่านใช้วิธีขายบ้านเก่าของครอบครัว แล้วให้โยมแม่ย้ายมาอยู่ที่วัดแทน จนกระทั่งสร้างอาคารเรียนได้สำเร็จ

จากความบากบั่นไม่ย่อท้อ ในที่สุดความพยายามตลอด 3 ปีก็เริ่มเห็นผล เพราะมีนักเรียนสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้สำเร็จ ถือเป็นครั้งแรกของตำบลห้วยยางเลยก็ว่าได้ และยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองโรงเรียนศรีแสงธรรมในทิศทางที่ดีขึ้น

จุดเด่นของโรงเรียนศรีแสงธรรม คือ การสอนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมให้ทุกคนมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ อย่างวิชาคณิตศาสตร์ แทนที่จะให้เด็กๆ ท่องจำสูตรเพื่อใช้ทำข้อสอบ ก็นำมาผสมผสานกับการทำเกษตร โดยให้โจทย์ที่นักเรียนได้เรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติ

“เราสอนแบบบูรณาการ เอาทุกอย่างมารวมกัน เช่น พื้นที่ 1 ตารางเมตร เท่ากับกี่ไร่ ก็ให้เด็กหาพื้นที่ ถ้าต้องการดำนาห่างกัน 40 เซนติเมตร ต้องใช้ต้นกล้ากี่ต้น ช่วงแรกต้องขังน้ำไว้ปริมาตรเท่าไร คุณจะใช้ปั๊มน้ำกี่แรงม้า ใช้เวลาเท่าไร สูญเสียค่าไฟแค่ไหน ให้ทุกคนลงไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง อันนี้เป็นหลักการสอนของเรา เพราะเราต้องทำให้เด็กเห็นว่า การสอนไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการเดียวเหมือนกันหมด บางอย่างเราก็ดึงมาจากชุมชน เช่น วิชาดิน น้ำ ลม ไฟ นำปัญหาของชุมชน ของโลกมาปรับเพื่อให้ตอบโจทย์กับสังคมมากที่สุด และยังช่วยให้โรงเรียนของเราทันสมัยตลอดเวลา”

เรื่องพลังงานก็เช่นเดียวกัน ช่วงนั้นพระอาจารย์เห็นว่านักเรียนอยากเรียนวิทยาศาสตร์ ก็พอดีกับท่านได้รับบริจาคแผ่นโซลาร์เซลล์แตกๆ มา จึงนำมาเป็นสื่อการสอนให้นักเรียนได้ฝึกซ่อมแซม ซึ่งจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ท่านไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้ามาก่อน แต่อาศัยการศึกษาจากอินเทอร์เน็ต ลองผิดลองถูกเรื่อยมา กระทั่งประสบความสำเร็จ สามารถนำไปใช้ชาร์จวิทยุทรานซิสเตอร์ หรือทำเป็นไฟฉายได้

“ตอนเป็นเด็กเราใช้รางถ่านมาต่ออนุกรม ต่อขนาดวัดโวลต์ เพราะฉะนั้น พอต้องมาสอนเด็ก แทนที่จะสอนว่าเซลล์หนึ่งมีกี่โวลต์ ขั้วบวกขั้วลบอยู่ฝั่งไหน เราให้เขาประดิษฐ์ออกมาเลย แล้วส่งเข้าประกวด ครั้งแรกทำเป็นไฟฉาย ถ่านก็ไปแกะมาจากแบตเตอรีเก่าที่เขาทิ้งแล้ว จากนั้นสอนวงจรไฟฟ้า สอนทฤษฎี P=IV พอสัปดาห์ถัดมาสอนทำเครื่องมือวัดไฟ ทำโวลต์มิเตอร์แบบอะนาล็อก ระหว่างนั้นเราก็ทำเอกสารให้เด็กได้เรียน พัฒนาปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเล่ม เป็นหลักสูตรของโรงเรียน”

ผลจากการเรียนรู้โดยไม่กลัวความล้มเหลว ทำให้เกิดนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ รถเข็นไฟฟ้าชุดนอนนา โรงน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนอาคารเรียน จนผลิตไฟฟ้าได้ประมาณวันละ 600 กิโลวัตต์ หรือ 220,000 กิโลวัตต์ต่อปี ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 110,000 กิโลคาร์บอน และช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเดือนละหลายพันบาท โดยที่พระอาจารย์นำเงินส่วนนี้มาเปลี่ยนเป็นค่าอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียนกว่า 200 ชีวิต

“ตอนนั้นเราไม่มีเงินค่าไฟ เพราะเดือนหนึ่งเราต้องเสีย 7,000-8,000 บาท แต่พอเราสอนเรื่องโซลาร์เซลล์ ติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้ามาช่วยอุ้มระบบ สุดท้ายค่าไฟเหลือ 0 บาท จ่ายเฉพาะค่ามิเตอร์อย่างเดียว 40 บาท แต่ใช้ไปใช้มาเกิดปัญหา เพราะเราต่อจนมิเตอร์เขาหยุดหมุน ไปจ่ายไฟสวนเข้าระบบ ซึ่งขัดกับระเบียบของการไฟฟ้าฯ กลายเป็นเรื่องราว เขาเลยให้ถอดมิเตอร์ ถอดโซลาร์เซลล์ออก ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดทางกฎหมาย”

เหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของโรงเรียน เพราะต้องกลับมาจ่ายค่าไฟเต็มจำนวน ส่งผลให้เงินที่จะใช้เป็นค่าอาหารหายไปโดยปริยาย แต่พระอาจารย์ก็ไม่ถอย ชักชวนครูและนักเรียนมาช่วยกันทำไฟฉายขอข้าว ขายอันละ 1,000 บาท ปรากฏว่าแค่วันเดียวขายได้เป็นแสนบาท พระอาจารย์จึงให้หยุดขาย เพราะถือว่าเพียงพอต่อความต้องการแล้ว

ขณะเดียวกัน พระอาจารย์ได้ทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยหาวิธีแก้ปัญหา

“เราส่งจดหมายไปบอกว่า คุณแถลงนโยบายเรื่องการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาประเทศ โรงเรียนก็ยึดหลักนี้จนไม่ต้องจ่ายค่าไฟ แต่กลายเป็นว่าผิดกฎหมาย ท่านนายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ หน่วยงานต่างๆ เริ่มเข้ามาแนะนำ เกิดการวิจัยระหว่างเรา กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และ สวทช. และที่สำคัญสุดที่คือ เกิดการสื่อสารกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับหลายหน่วยงานมาก อย่าว่าแต่ชาวบ้านทั่วไปเลย แม้แต่เรายังไม่เข้าใจ จึงต้องมีการอธิบายที่ชัดเจนว่า ควรทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง ถูกระเบียบ ชาวบ้านจะได้นำไปใช้และแบ่งเบาภาระของเขาได้จริงๆ”

หลังจากนั้น พระอาจารย์จึงได้นำความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนศรีแสงธรรมหรือที่ภายหลังได้รับการขนานนามว่าโรงเรียนเสียดายแดดมาถอดเป็นบทเรียน ทั้งวิธีทำอาคารประหยัดพลังงาน การสร้างบ้านดิน วิธีติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ถูกต้อง ด้วยหวังให้แสงแดดกลายเป็นแสงสว่างสร้างความอบอุ่นและปัญญาแก่ผู้คนที่ขาดแคลน และนำมาสู่ศรีแสงธรรมโมเดลโมเดลการจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืนที่ทุกคนยอมรับ

ความยั่งยืนที่แท้จริงคือ ‘นักเรียน’

แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จักพระอาจารย์นพพร และศรีแสงธรรมโมเดล ว่าเป็นต้นแบบของการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืน แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดที่เจ้าอาวาสรูปนี้ต้องการ

เพราะสิ่งที่ท่านอยากเห็นคือ เด็กและเยาวชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ขาดแคลนโอกาส เหมือนที่ท่านเคยเผชิญมาก่อน

ด้วยแนวคิด Learning by doing ให้ทุกคนเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เน้นการทำงานเป็นทีม การสร้างสรรค์ต่อยอด และรู้จักแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้งานไปถึงเป้าหมายอย่างที่วางไว้ สิ่งเหล่านี้เองทำให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนศรีแสงธรรมเติบโตอย่างมั่นคง และพร้อมที่จะเสริมทักษะความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันกับยุคสมัย

ขณะเดียวกัน พระอาจารย์ยังพยายามสร้างโมเดลการพัฒนาเยาวชนที่ครบวงจร เรียนจบแล้วต้องมีงานทำ โดยก่อตั้งบริษัท ศรีแสงธรรม จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นสร้างอาชีพแก่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยมีทีมที่เรียกว่า ‘ช่างขอข้าว’ ซึ่งเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนมาตั้งแต่เข้า ม.1 และเชี่ยวชาญในการต่อไฟฟ้าแบบต่างๆ รับหน้าที่ช่วยติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือปิดเทอม

ที่ผ่านมา พวกเขาได้เข้าไปช่วยติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ระบบประปาหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ติดตั้งระบบไฟฟ้าออฟกริด 3,000 วัตต์ ให้สำนักสงฆ์ที่อยู่ห่างไกลในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงทำระบบสูบน้ำลึกพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่หมู่บ้านชนบทในอำเภอพิบูลมังสาหาร และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้เวลาปฏิบัติงานเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ถือว่ารวดเร็วมากและยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

รายได้จากผลประกอบการนั้น จะนำมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของทางโรงเรียนและสาธารณประโยชน์ โดยจัดสรรเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรม เป็นค่าตอบแทนเงินเดือนครู 4 คน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนที่จบจากที่นี่ แล้วกลับมาช่วยสอนน้องๆ ต่อ อีกส่วนมอบให้ทีมช่างนำไปเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงจัดซื้อเครื่องมือแพทย์สำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล โดยได้ดำเนินการมอบความช่วยเหลือบริจาคไปแล้วหลายล้านบาท ซึ่งนับเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่นอกจากจะพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังสามารถเกื้อกูลส่งต่อสิ่งที่ดีงามให้สังคมอย่างแท้จริงได้ต่อไป

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงเรียนวัดป่าแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่คนทั่วโลกรู้จัก ยืนยันได้จากการที่มีแขกเหรื่อทั้งในและต่างประเทศแวะมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย อาทิ อดีตรองประธานาธิบดี Al Gore แห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ได้มอบหมายให้โปรดิวเซอร์รายการ 24 Hours of Reality มาทำสารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของศรีแสงธรรมโมเดล สู่ผู้ชมกว่า 100 ล้านครัวเรือน 70 ประเทศทั่วโลก

เช่นเดียวกับรายการประกวดชื่อดังของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ยังยกย่องให้ที่นี่เป็น Best Human Story Award พร้อมกับตั้งข้อสังเกตที่ชวนคิดว่า ‘หากโรงเรียนกลางป่าอย่างศรีแสงธรรม ยังสร้างเทคโนโลยีแบบนี้ได้ ที่อื่นๆ ในประเทศไทยก็ย่อมทำได้เช่นกัน’

เพราะปัจจุบัน โรงเรียนศรีแสงธรรมถือเป็นสถานที่ศึกษาดูงานพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครบครันที่สุด มีตัวอย่างของโซลาร์เซลล์ทั่วโลก ทั้งระบบ On Grid, Off Grid และ Hybrid โดยเฉพาะระบบ Hybrid นั้นสามารถผลิตกำลังไฟได้สูงถึง 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง นับว่ามากที่สุดในโลก

แต่ที่น่าภูมิใจยิ่งกว่าคือ สภาพสังคมของตำบลห้วยยางที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยถูกคนอื่นตราหน้าว่า ‘ไม่มีอนาคต’ กลับเติบใหญ่เป็นต้นแบบให้ชุมชนต่างๆ อยากเจริญรอยตาม หรือปัญหาเดิมๆ อย่างยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร หรือแม้แต่ความยากจนก็ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างเด็กคนแรกที่เรียนจบปริญญาตรี เดิมทีเป็นเด็กยากจน อาศัยอยู่กับยาย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานก่อสร้างที่ต่างถิ่น ส่วนตัวเองต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปเป็นหางเครื่อง หาเงินเลี้ยงยาย แต่ด้วยความใฝ่ดี อยากพัฒนาตัวเอง จึงศึกษาเรื่องโซลาร์เซลล์อย่างละเอียด และกลายเป็นตัวแทนรุ่นแรกของโรงเรียนศรีแสงธรรมไปแข่งขันในระดับจังหวัดและระดับภาค ผลปรากฏว่าได้รับชัยชนะ แล้วก็เริ่มมีโอกาสต่างๆ เข้ามาจนกระทั่งได้เรียนต่ออย่างที่เคยฝันไว้

เช่นเดียวกับนักเรียนอีกคน บ้านอยู่กลางทุ่งนาหลังเล็กๆ คับแคบ ยามค่ำคืนก็ต้องนอนเรียงกันเป็นตับ แต่ก็ต้องยอมทนเพราะไม่มีทางเลือก ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ ต้องใช้โซลาร์เซลล์แทน เปิดได้เฉพาะช่วงกินข้าว ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ได้พักผ่อน ต้องช่วยที่บ้านเผาถ่านขาย จะได้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว ในสมัยนั้นพระอาจารย์ยังเคยให้เงินใช้บ่อยๆ แต่เด็กคนนี้กลับเลือกจะเก็บไว้ ไม่ยอมใช้ เพราะตระหนักถึงคุณค่าของเงิน และโชคดีที่เธอเป็นเด็กเรียนเก่ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จึงฝ่าฟันความยากลำบาก จนเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้สำเร็จ และพอจบมาก็ไม่ได้ไปไหน แต่ขอกลับมาเป็นครูอยู่ที่บ้านเกิด คอยช่วยเหลือพระอาจารย์สร้างเด็กคุณภาพรุ่นถัดไปเรื่อยมา

ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีศิษย์เก่าของโรงเรียนอีกหลายคนที่กลับมาช่วยพัฒนาตำบลห้วยยาง จนเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ในชุมชนมีความฝัน และอยากเรียนต่อสูงๆ เพื่อจะได้เติบโตมาช่วยเหลือชุมชนอย่างที่รุ่นพี่ๆ ทำกันมา

“เราชี้ให้เห็นเด็กเห็นเปรียบเทียบเลยว่า คุณภาพการศึกษาของแต่ละหมู่เป็นอย่างไร ต่างกันตรงไหน วัดให้เห็นไปเลย บอกเขาให้รู้ว่า ที่ไหนๆ เขาก็ต้องการคนมีคุณภาพไปเป็นตัวแทน ไปพัฒนาพื้นที่ทั้งนั้น บางแห่งถึงขั้นต้องยอมเสียเงินเป็นแสน เพราะฉะนั้นคนดีอยู่ที่ไหนก็มีคนอยากได้ อยากไปร่วมด้วย”

สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์ยังคงมุ่งมั่นผลักดันโรงเรียนแห่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ต่อให้ภารกิจนี้จะเหนื่อยยากลำบากเพียงใดก็ตาม เพราะหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์คือ การสร้างคน สร้างสังคมที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและศีลธรรม

สิ่งที่เราทำอยู่ไปไกลกว่าห้องเรียนแล้ว เราตั้งใจทำสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับโลก น้ำ พลังงาน และอาหาร ขยายจากจุดเล็กๆ ไปสู่ระดับโลก เหมือนกับทฤษฎีหมกปลาแดกแลกช้าง

ศรีแสงธรรมโมเดล : จากพระผู้สร้างตำบลที่อุดมไปด้วย ‘ช่าง’ สู่สังคมที่ยั่งยืนจากพลังแสงอาทิตย์

จากอุบลฯ สู่เมืองไทย

“สิ่งที่เราทำอยู่ไปไกลกว่าห้องเรียนแล้ว เราตั้งใจจะทำสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับโลก น้ำ พลังงาน และอาหาร ขยายจากจุดเล็กๆ ไปสู่ระดับโลก เหมือนกับทฤษฎีหมกปลาแดกแลกช้าง”

หลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันโรงเรียนศรีแสงธรรม พระอาจารย์นพพรก็เล็งเห็นว่า ไม่มีทางที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้จะเติบโตได้ยั่งยืนเพียงลำพัง หากชุมชนรอบข้างไม่พัฒนาไปพร้อมกัน

พระอาจารย์จึงเริ่มทำโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน อาทิ การจัดอบรมเรื่องโซลาร์เซลล์ให้ผู้สนใจ โดยมีเหล่านักเรียนมาเป็นวิทยากรผู้ช่วย ซึ่งสอนความรู้ทุกอย่างเต็มที่ ทั้งการผลิต การติดตั้ง หรือนวัตกรรมที่ค้นพบระหว่างการทดลอง เพื่อที่ผู้เรียนจะได้นำกลับไปประยุกต์ใช้กับงานของตัวเอง

หนึ่งในนั้นคือ ‘รถเข็นไฟฟ้าชุดนอนนา’ เป็นการนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งไว้บนรถเข็น เพื่อที่เวลาไปทำนา ทำสวน หรือสถานที่ไกลๆ จะได้เข็นไปด้วย พอถึงเวลาต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ต่อเครื่องสูบน้ำ เปิดวิทยุ โทรทัศน์ หรือพัดลม ก็ทำได้อย่างสะดวกสบาย เพราะสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เคยติดตามพ่อกับแม่ไปนา ซึ่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจึงรู้สึกลำบากมาก

อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2561 หลังจากที่ นพ.เศวต ศรีศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น นำคณะนักศึกษาแพทย์มาศึกษาดูงานเรื่องพลังงานสะอาด ที่โรงเรียนศรีแสงธรรม แล้วอยากนำระบบโซลาร์เซลล์ไปใช้ภายในโรงพยาบาล เนื่องจากทุกวันนี้โรงพยาบาลต้องเสียค่าไฟฟ้าเดือนละเกือบล้านบาท

พระอาจารย์จึงช่วยระดมทุนหาเงินบริจาคช่วยติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล โดยเริ่มแรกติดตั้งขนาด 30 กิโลวัตต์ก่อน ช่วยประหยัดค่าไฟไปได้ประมาณเดือนละ 18,000 บาท ต่อมาก็เริ่มรับบริจาคเพิ่มจนขยายเป็น 1,000 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟถึงเดือนละ 600,000 บาทเลยทีเดียว

จากความสำเร็จนี้เอง ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเริ่มจับมือกันก่อตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) โดยนิมนต์พระอาจารย์ให้มารับตำแหน่งประธานกองทุน เพื่อระดมทุนต่อเนื่อง จนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 30 กิโลวัตต์ ครบ 7 แห่งตามที่ตั้งใจไว้

อย่างไรก็ตาม พระอาจารย์เห็นว่า การที่ผู้คนจะตระหนักและสนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแท้จริง ต้องทำให้เห็นผลลัพธ์ชัดเจน จึงริเริ่มโครงการใหม่ ‘77 จังหวัด 77 โรงพยาบาลทั่วประเทศ’ เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 112 กิโลวัตต์ โดยตั้งเป้าที่จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 70,000 บาท ซึ่งหากคำนวณอายุการใช้งาน 30 ปี จะช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าไฟได้ถึง 24.6 ล้านบาท ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,759,400 กิโลคาร์บอน หรือเท่ากับปลูกต้นไม้ 275,940 ต้นต่อโรงพยาบาล

“หลักคิดของเรายังคงช่วยเหลือโรงพยาบาลที่เดือดร้อน หรือโรงพยาบาลตามอำเภอต่างๆ แต่เราไม่อยากให้ทุกคนคิดแต่จะขอ อยากให้มีส่วนร่วมด้วย เลยทำเป็นแคมเปญทอดผ้าป่าให้วัด โดยโรงพยาบาลเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมมติว่างบประมาณ 3 ล้านบาท โรงพยาบาลช่วย 2 ล้านบาท วัดช่วย 1 ล้านบาท เพราะลองคิดดู อำเภอหนึ่งมีประชากร 40,000 คน ถ้าเขารับบริจาคคนละ 100 บาท ก็ได้ 4 ล้านบาทแล้ว อีกอย่างคือ คนเราเชื่อหมอมากกว่าเชื่อพระ ถ้าผู้อำนวยการตั้งใจจริงทำได้อยู่แล้ว”

นอกจากโรงพยาบาล พระอาจารย์ยังเข้าไปช่วยอบรมให้ความรู้ตามโรงเรียนต่างๆ ด้วยหวังให้นำศรีแสงธรรมโมเดลไปต่อยอด แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากหลายแห่งมีเป้าหมายเพียงต้องการลดค่าไฟฟ้า มากกว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้

ถึงอย่างนั้น พระอาจารย์ก็ไม่ท้อถอย เดินหน้าสร้างวัดและโรงเรียนให้เป็นแม่แบบต่อไป โดยเป้าหมายที่เริ่มผลักดันไปแล้วคือ แนวคิด ‘โคกอีโด่ยวัลเล่ย์’ ซึ่งล้อมาจากคำว่า Silicon Valley เมืองแห่งสตาร์ตอัปที่รวบรวมบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมเปลี่ยนโลกไว้ด้วยกัน

แต่ที่นี่เปรียบเสมือนพื้นที่ทดลองที่นำเรื่องพลังงานและเกษตรกรรมมาผสมผสาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของชุมชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง สามารถอยู่รอดได้ แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ที่เข้ามากระทบก็ตาม

โคกอีโด่ย ภาษาอีสานคือโคกเดี่ยวๆ ไม่มีพืชผัก ฝนแล้ง ดินเลว สร้างประโยชน์อะไรไม่ได้ ซึ่งที่นี่เดิมก็เป็นโคกอีโด่ย มีแต่หินเขา จึงนำมาถวายสร้างเป็นวัด แต่ที่ผ่านมาเรานำเรื่องพลังงานกับการเกษตรเข้ามาพัฒนา นำทฤษฎีต่างๆ ทั้งทฤษฎีปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทฤษฎีหลุมขนมครก ทฤษฎีจัดการน้ำ จัดการดินสารพัดเข้ามาใช้ จนโคกอีโด่ยธรรมดายกระดับกลายมาเป็นโคกอีโด่ยวัลเลย์ เพราะทั้งหมดที่ทำคือ นวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศชาติ เราทำเล็กๆ แต่ขยายในจุดใหญ่ๆ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้

ส่วนก้าวต่อไปที่พระอาจารย์วางแผนไว้เพื่อทดแทนคุณแผ่นดินไทย คือ พุทธอารยเกษตร ซึ่งถือเป็นการพัฒนาพื้นที่โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทแห่งภูมิสังคมของวัดป่าศรีแสงธรรม

โดยนำแนวคิดเรื่อง ‘โคก หนอง นา’ มาผสมผสานกับหลักวิถีพุทธ ศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ อย่างลงตัว ภายใต้หลักคิดเรื่อง ‘ธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติ’ เพื่อให้ผู้คนที่เข้ามาเรียนรู้สามารถนำไปต่อยอด พัฒนาพื้นที่ และพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

อย่างเช่น ภายในพื้นที่จะมีธนาคารน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา จะได้เก็บกักน้ำเพียงพอต่อการรดน้ำต้นไม้ มีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ส่งน้ำไปตามจุดต่างๆ ส่วนต้นไม้ที่นำมาปลูกก็จะค่อนข้างหลากหลาย บางต้นเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป บางต้นเป็นไม้โตเร็ว เป็นพืชผักผลไม้ โดยจัดสภาพแวดล้อมและภูมิสถาปัตยกรรมให้เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อการใช้พื้นที่ของทุกคนมากที่สุด

“เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจของชุมชน สร้างสังคมใหม่ ให้คนดีมีความรู้มาอยู่ที่นี่ และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ ส่วนเด็กๆ อาจจะมาทำสตาร์ทอัป ทั้งบริษัทท่องเที่ยว บริษัทซ่อมรถ ทำธุรกิจของตัวเองอยู่ตรงนี้ และพอมีคนเข้ามาเยอะๆ ก็จะเกิดความเข้มแข็ง เกิดเศรษฐกิจฐานราก และนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่เจริญไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งหมดนี้คือ ความฝันของพระตัวเล็กๆ ที่ไม่ยอมให้ความขาดแคลนมาเป็นอุปสรรคในชีวิต หากแต่ใช้หัวใจที่มุ่งมั่น กับทรัพยากรที่มีไม่จำกัดอย่างแสงอาทิตย์ มาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ สร้างต้นกล้าที่เปี่ยมด้วยคุณภาพสู่สังคม ตลอดจนพลิกชุมชนไกลปืนเที่ยง ให้กลายเป็นต้นแบบของความหวังที่จะช่วยพาโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

โครงการปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก

ปฏิบัติการชุมชนเปลี่ยนโลก : โครงการของเพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ 15 ชุมชนหรือเครือข่ายที่รวมพลังกันทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ศรีแสงธรรมโมเดล คือเครือข่ายชุมชนต้นแบบประเด็นสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDGs ข้อที่ 4), ประเด็นรับรองการมีพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืนทันสมัย (SDGs ข้อที่ 7), ประเด็นสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 12), ประเด็นดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (SDGs ข้อที่ 13) และประเด็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs ข้อที่ 17)

<< แชร์บทความนี้

RELATED POSTS
LATEST

Keep In Touch

COPYRIGHT © 2021 WWW.THENORMALHERO.CO.  ALL RIGHTS RESERVED.